นัดจันทร์นี้! ถกแก้น้ำเค็มหนุน- ประปาเค็ม วิกฤตเขื่อนอุบลรัตน์-สูบน้ำก้นเขื่อนใช้

ประปาเค็ม / เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์แล้งค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนน้อยและฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10-16 % โดยปริมาณฝนทั่วประเทศตกประมาณ 1,346 มิลลิเมตร (มม.) ต่ำกว่าปี 2558 ที่มีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,579 มม. ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยในวันจันทร์ที่ 6 ม.ค. จะหารือกับหน่วยงานน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งการประปานครหลวง เพื่อทำแผนรับมือน้ำเค็ม ซึ่งขณะนี้น้ำเค็มหนุนสูงซึ่งอาจกระทบต่อน้ำกินน้ำใช้

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องของน้ำเค็มรุกได้หารือกับการประปาบ้างแล้ว และการประปาเริ่มขุดบ่อบาดาลรองรับฤดูแล้งที่อาจจะมีความรุนแรง โดยปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 49,737 ล้านลบ.ม. หรือ 61% ของความจุ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การได้ 20,686 ล้านลบ.ม. หรือ 43% ของความจุ

นายสมเกียรติ กล่าวด้วยว่า สำหรับเขื่อนที่ต้องเฝ้าระวังมีปริมาณน้ำน้อยจำนวน 14 แห่ง ได้แก่ แม่กวง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่มอก เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนคลองสียัด เขื่อนหนองปลาไหล และเขื่อนจำนวน 88 แห่ง ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย แบ่งเป็นในภาคเหนือ 27 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 45 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง ตะวันออก 10 แห่ง ตะวันตก 2 แห่ง ภาคใต้ 2 แห่ง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้ประสานงานกับการประปานครหลวง ที่มีติดตามน้ำแบบเรียลไทม์ เพื่อดันน้ำเค็มไม่ให้กระทบกับน้ำสำหรับการใช้ การกิน เพราะหากน้ำเค็มมีปริมาณสูงเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ อาจกระทบกับเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่อาจเสียหายได้ หรือไม่ก็อาจกระทบกับผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ป่วยโรคไต แต่กรมชลประทานไม่กังวลมากนัก สำหรับน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคทั่วไปที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ เพราะน่าจะมีกระบวนการที่ทำให้น้ำไม่กร่อยหรือเค็มก่อนส่งถึงบ้านเรือนผู้บริโภค จึงไม่น่ามีปัญหามากนัก

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้คาดว่าจะรุนแรง โดยเฉพาะห้วยจระเข้มาก และห้วยตลาด จ.บุรีรัมย์อยู่ในสภาวะที่น่ากังวล เพราะน้ำเหลือใช้เพียงถึงเดือนก.พ.2563 เท่านั้น จำเป็นต้องนำน้ำจากห้วยสวายมาเพื่อผลิตน้ำกินน้ำใช้ เพื่อให้สามารถมีน้ำรองรับเพื่อมีน้ำใช้ไปตลอดฤดูแล้งนี้ และที่เขื่อนที่น่าห่วงคือเขื่อนอุบลรัตน์น้ำใช้อุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตรหมดแล้ว กรมชลประทานใช้วิธีสูบน้ำก้นเขื่อน หรือน้ำตายมาเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภคแทน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน