หลังจากสร้างชื่อในฐานะนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในหลายประเด็นร้อน ตั้งแต่สิทธิในการไม่แต่งเครื่องแบบนิสิต ต่อต้านการรับน้อง ฯลฯ วันนี้ “แฟรงก์ เนติวิทย์” ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในสององค์กรนิสิตที่สำคัญของมหาวิทยาลัย เนติวิทย์ชนะการเลือกตั้งประธานสภาฯ ด้วยคะแนนเสียง 27 เสียง จากทั้งหมด 36 เสียง “ข่าวสด” สัมภาษณ์เปิดใจกับเนติวิทย์เกี่ยวกับบทบาทและจุดยืนก้าวต่อไป

 

เราเข้ามาบทบาทตรงนี้ได้อย่างไร?

ตอนสมัยปี 1 ผมเป็นสมาชิกสภาสมทบก่อน อันนั้นสำหรับเด็ก ปี 1 เป็นสมาชิกภาพแบบวิสามัญ คือไม่สามารถโหวตได้ ซึ่งสภาสมทบนี้ มาจากการเลือกจากเพื่อนๆในแต่ละคณะ ในส่วนของผม ผมได้รับเลือกจากเพื่อนๆ ที่คณะรัฐศาสตร์ แต่เวลาประชุม มีผมไปประชุมคนเดียว เพราะคนอื่นเค้าก็เบื่อๆ กัน เนื่องจากโหวตอะไรไม่ได้

หลังจากนั้น ผมลงสมัครสภานิสิตแบบสามัญ ก็ได้รับเลือก จนกระทั่งต่อมาสภานิสิตต้องหาประธานคนใหม่ เนื่องจากมีวาระแค่ 1 ปี ผมเลยเสนอชื่อตัวเอง

 

ทำไมสมาชิกส่วนใหญ่ถึงเลือกเรา?

สมาชิกหลายคนรู้จักผมเป็นการส่วนตัวมานานแล้ว เป็นเพื่อนกัน แต่ผมรู้จักจริงๆ แค่ 10 กว่าคน ที่เหลือเค้าเห็นวิสัยทัศน์ของผม ซึ่งผมไม่รู้จักมาก่อนเลย เขาก็คงอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัยบ้าง

 

เราจะสามารถเคลื่อนไหวหรือทำตามนโยบายได้จริงมั้ย?

ผมว่ามันทำได้นะ คือสภานิสิตนี่ก็สะท้อนประเทศได้ด้วย ไปดูองค์การนักศึกษาส่วนใหญ่ เดี๋ยวนี้ก็เป็นพวกคนไม่กี่คนที่มาครอบงำองค์กรอยู่ บางที่ไม่มีเลือกตั้งด้วยซ้ำ ดูอย่าง อบจ. (องค์การบริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นายกก็มาจากวิศวะหลายปีแล้ว ก็สืบอำนาจกัน ทำงานตามอีเวนท์ แต่ไม่กล้าพูดอะไรเลยเวลาเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง

ดังนั้น สภานิสิตจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นสภาที่นิสิตสามารถพึ่งได้ เป็นสภาที่มีความเป็นประชาธิปไตย ขนาดผู้นำของเรายังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเลย

 

ทุกวันนี้มีคนมองว่าธรรมศาสตร์กำลังสวนทางกับจุฬาฯ เพราะดูเหมือนว่าจุฬาฯมีคนอย่างเรามาเคลื่อนไหวหลายเรื่องๆ แต่ธรรมศาสตร์กลับดูไม่ค่อยมีใครออกมาเคลื่อนไหว ตรงนี้เรามองอย่างไร?

ผมไม่ได้อย่างนั้นครับ ผมไม่ค่อยชอบการมองแบบนี้ด้วย เพราะเป็นการมองที่ตัวบุคคล เป็นลัทธิวีรบุรุษนิยม ผมค่อนข้าง คือยังไงดีล่ะ ผมไม่ชอบมหาลัยธรรมศาสตร์เท่าไหร่ ผมมาเข้าจุฬาฯ เพราะไม่ดัดจริตแบบธรรมศาสตร์ ผมเคยปะทะคารมกับสมาชิกสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาแล้ว เค้าเอาแต่นำเสนอประวัติ้ศาสตร์มหาลัยตัวเอง พูดเรื่องอดีตว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง แต่พอผมถามว่า คุณละอายมั้ยที่มีคนอย่างสมคิด (เลิศไพฑูรย์) เป็นอธิการบดี เค้าบอก ก็เรื่องของเค้าสิ ผมถึงรู้สึกก็ เค้าเอาแต่ขายอดีต ไม่ได้ดูสถานการณ์ปัจจุบันเลย

ไม่ชอบมายาคติบางอย่างของธรรมศาสตร์ ซึ่งผมเสียดาย เพราะผมก็นับถืออาจารย์ปรีดี (พนมยงค์) อาจารย์ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) มาก แต่ว่าทุกวันนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือหากิน ผมเลยลองไปที่อื่น ที่มาจุฬาก็เพราะประชดธรรมศาสตร์นั่นแหละ จริงๆแล้ว ผมเองก็อยากให้ธรรมศาสตร์ตื่นตัวทางการเมืองมากกว่านี้ เค้าบอกว่าเค้ามีเสรีภาพการแต่งกาย แต่นั่นคือเสรีภาพที่สู้ไว้นานแล้ว และเค้าไม่ควรมองว่าเสรีภาพมีแต่เรื่องเครื่องแต่งกายอย่างเดียว ควรจะมองถึงสถานการณ์ประชาธิปไตยและการเมืองของประเทศด้วย

 

สิ่งแรกที่จะทำในฐานะประธานสภานิสิตคืออะไร?

ผมเป็นคนประสบการณ์น้อย ผมก็ไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้อยู่ชมรมอะไรเยอะ ดังนั้น สิ่งแรกที่ผมจะทำคือผมจะศึกษาปัญหาว่ามีอะไรบ้าง และผมจะทำงานเกี่ยวกับการรับน้อง เพราะไม่อยากให้เกิดเรื่อง ไม่อยากให้น้องไม่สบายใจ ผมต้องการสร้างประชาธิปไตย ต้องการสร้างโรลโมเดล เป็นที่พึ่งใหม่แทนรัฐบาล

 

เราจะขัดแย้งกับ อบจ. มั้ย?

อบจ เป็นองค์การบริหาร ดังนั้นก็มีสภาพเหมือน ส.ส. ส่วนสภานิสิตมีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองเรื่องที่ อบจ. ส่งมา จึงเป็นเหมือน ส.ว. ที่ผ่านมาสภานิสิตมักจะมองตัวเองเป็นปฏิปักษ์กับ อบจ. เค้าจะไม่ชอบกัน แต่เราจะมาดูกันที่หลักการว่า แต่ละเรื่องเหมาะสมมั้ย นิสิตและมหาวิทยาลัยได้ประโยชน์มั้ย จะต้องมีกระบวนการที่มันตรวจสอบชัดเจนขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน