พายุ “โมรา”จ่อฟาดหางใส่ประเทศไทยหลังทวีความรุนแรงจากดีเปรสชั่นเป็นไซโคลน “บิ๊กตู่”ตรวจงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกทม. ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันโดยเฉพาะเรื่องปัญหาขยะอุดตันทางระบายน้ำ เล็งให้กทม.ผุดโรงสูบน้ำแห่งใหม่เพิ่ม กรมชลฯ ยันสถานการณ์ 4 เขื่อนใหญ่ยังปกติ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลยังรองรับได้อีกมหาศาล พร้อมให้ชาวกรุงมั่นใจว่าไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน ชาวนากรุงเก่าเร่งสูบน้ำออกจากนากู้ต้นข้าวที่จมบาดาล

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยตอนบน และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน ฉบับที่ 25 เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบนทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน “โมรา” มีแนวโน้มเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศบังกลาเทศและเมียนมาในวันที่ 30 พ.ค. ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนยังคงมีกำลังแรง

ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายกฤษฎา บุญราช ปลัดมท. กล่าวถึงการสั่งการให้แต่ละพื้นที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมว่า สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ให้เตรียมสถานที่รองรับน้ำ ทั้งแก้มลิง ขุดบ่อ สระต่างๆ ขณะนี้เตรียมการไว้แล้วส่วนหนึ่งเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ เมื่อมีฝนตกลงมาเชื่อว่าแต่ละจังหวัดส่วนใหญ่จะมีการบริหารจัดการได้

สำหรับกรณีในพื้นที่กรุงเทพฯ มอบหมายให้ ปภ.ร่วมประสานการทำงานด้วยนั้น ปกติเรามีกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยมีตัวแทนของ กทม. ตอนนี้ให้เปิดกองบัญชาการนี้ขึ้นมาประสานงานกันระหว่างมท. กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ประสานสอดคล้องกัน เพราะบางพื้นที่เมื่อระบายน้ำออกจากกรุงเทพฯ จะไปอยู่ในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเกินอำนาจหน้าที่ของ กทม. จำเป็นต้องให้ ผวจ.หรือหน่วยงานข้างเคียงมาดูแลด้วย

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชล ประทาน เปิดเผยว่า แผนการบริหารน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสายหลักยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวม 4,222 ล้านลบ.ม. ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในปีนี้เขื่อนภูมิพลมีศักยภาพรับน้ำได้มากกว่าเกณฑ์ เฉลี่ยความจุอ่างคิดเป็นร้อยละ 42 หากเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 30 ยังรองรับน้ำได้อีก 7,741 ล้านลบ.ม.

“น้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่ง เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน กรมชลฯ บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตอนบน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับกรุงเทพฯ ซึ่งเรามีระบบทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกมีคันกั้นน้ำรอบปริมณฑลและกรุงเทพฯ โดยระบายน้ำออกไปแม่น้ำท่าจีนและบางปะกง ซึ่งเรามีสถานีสูบน้ำทั้ง 3 แห่ง ซึ่งกรมชลฯ กับกทม. บริหารจัดการรวมกันไม่ให้น้ำเหนือส่งผลกระทบกับกรุงเทพฯ” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

วันเดียวกัน ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและติดตามแผนบริหารจัดการน้ำของกทม. รวมถึงลงพื้นที่ซอยลาซาล-แบริ่ง แขวงและเขตบางนา เพื่อรับฟังการบรรยายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ โดยมีพล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาค 1 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. นาย ภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัด กทม. ผู้บริหาร กทม.ให้การต้อนรับ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยากให้คนไทยทุกคนเข้าใจว่ารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาที่รากเหง้าของปัญหาว่าน้ำนั้นมาอย่างไร และประชาชนต้องมีส่วนร่วม และต้องคิดใหม่ว่าวิธีแก้ปัญหาเดิมถูกจุดหรือไม่ และต้องใช้งบประมาณ และเวลาในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขยะที่มักอุดตันทางระบายน้ำจนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ต้นเหตุทั้งหมดเป็นเพราะไม่ได้รับการแก้ไขทั้งระบบ กทม.มีความแออัดเกิดจากผังเมืองและการสร้างที่อยู่ผ่านทางน้ำไหล ต้องคิดใหม่ทั้งหมดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรและต้องทำให้ดีที่สุด แต่เรื่องผังเมืองคงทำอะไรไม่ได้มันสายเกินไปจะต้องขยายเมืองออก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ที่ว่าประชาชนจะร่วมมือกับรัฐบาลหรือไม่ โดยรัฐบาลพร้อมจะให้การสนับสนุนงบประมาณ ให้กทม.ไปคิดแผนมาเสนอการแก้ไขปัญหา น้ำท่วม ต้องดูแผนการจัดการน้ำทั้งระบบของประเทศด้วย ทั้งนี้ ทราบว่าโรงสูบน้ำของ กทม. ที่มี 7 แห่งยังไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาสร้างโรงสูบน้ำเพิ่ม ซึ่งคิดว่าจะต้องสร้างเพิ่มที่คลองเปรมประชากรอีกหนึ่งจุด

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้าที่พล.อ. ประยุทธ์เดินทางมายังสถานีสูบน้ำพระขโนง เจ้าหน้าที่ระดมสารวัตรทหารทั้งชายและหญิง ตำรวจท้องที่และตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบ ตรวจตรารักษาความปลอดภัยในทุกตรอกซอกซอยบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะประตูทางเข้าสถานีสูบน้ำนำเครื่องสแกนวัตถุระเบิด และตรวจค้นสัมภาระผู้ที่เข้า-ออก อย่างละเอียด แม้แต่ไฟแช็กยังห้ามนำติดตัวเข้าไปในงานด้วย

ที่ จ.อ่างทอง เรือดูดทรายของกรมเจ้าท่า ที่ได้ไปลอกแม่น้ำน้ำเจ้าพระยาในเขต ต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย หยุดทำงานชั่วคราวหลังระดับน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น กระแสน้ำ ไหลแรงเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ทำให้ต้องนำเรือเข้าฝั่ง

วันเดียวกัน นายอนุกูล เรือนแก้ว นายอำเภอเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมเจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรหนักขุดลอกคลองรำราง ในพื้นที่ ม.1-ม.5 ต.บ้านแพน หลังรับเรื่องร้องเรียนจากชาวนาว่า เกิดฝนตกหนักประกอบกับเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท ต้องระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่ท้ายเขื่อน มีระดับน้ำสูงขึ้น น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยายังได้ไหลมารวมกับแม่น้ำน้อย น้ำเอ่อท่วมนาข้าวกว่า 800 ไร่ แต่สูบน้ำออกจากนาลงในคลองชลประทานไม่ได้ เนื่องจากหลายจุดเป็นช่วงทางลงจากถนน ไปนามีการถมดินขวางกันเอาไว้ พร้อมซ่อมเครื่องสูบน้ำเร่งผลักดันน้ำออกจากคลองรำรางลงสู่แม่น้ำน้อยทันที

ส่วนสถานการณ์ที่ จ.ลพบุรี ปริมาณน้ำฝนจำนวนมากที่สะสมไหลลงมาจากภูเขาต่างๆ ในเขตพื้นที่ ต.โคกตูม ต.นิคมสร้างตนเอง หลากลงที่ราบลุ่มต่ำ ในพื้นที่ ต.ท่าศาลา ต.กกโก อ.เมืองลพบุรี เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ถนนหนทางหลักต่างๆ 30-40 ซ.ม. โดยเฉพาะถนนพหลโยธิน เจ้าหน้าที่เร่ง ช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของ ตำรวจจราจร อาสาสมัครมูลนิธิต้องเร่งระบายรถจำนวนมากในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนในวันเปิดเรียน ขณะที่เด็กนักเรียนบางคนต้องกลับบ้านเนื่องจากเดิน ลุยน้ำไม่พ้น ขณะเดียวกันระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำซับเหล็ก ต.โคกตูม อ.เมือง เกือบจะล้นตลิ่งแล้ว แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายอ่าง เฝ้าระวังถูกน้ำท่วมบ้านเรือนฉับพลัน

ส่วนที่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ต.ทัพเสด็จ เยี่ยมเยียนชาวบ้านในหมู่บ้านโคกแจง บ้านคลองน้ำใส บ้านทัพเสรี และบ้านคลองแผง หลังฝนตกหนักสะสมมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ทะลักเข้าท่วมในหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ตามแนวชายแดนกว่า 1 เมตร โดยชาวบ้านระบุว่า สาเหตุจากคลองส่งน้ำของชลประทาน มีท่อระบายน้ำขนาดเล็กเกินไป น้ำที่ไหลมาหลายทิศทาง ระบายออกไม่ทัน บ่าเข้าท่วมหมู่บ้าน โรงเรียน ไร่มันสำปะหลัง นาข้าว และไร่อ้อย อยากฝากไปถึงชลประทานให้ช่วยหาทางแก้ไขเปลี่ยนท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

ฝายแตก – ชาวบ้านชี้ให้ดูฝายชะลอน้ำ บ้านโนนไม้แดง .ม.5 ต.โบสถื อ.พิมาย จ.นครราชสีมา พังเสียหาย หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทั้งคืนจนฝายรับกระแสน้ำไหลไม่ไหว เมื่อวันที่ 29 พ.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน