ครม.สู้วิกฤตโควิด ไฟเขียวคืนเงินมิเตอร์ไฟทุกบ้าน ปล่อยกู้อีก 1.5 แสนล้าน

คืนเงินมิเตอร์ไฟ / เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นายอุตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติมาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 1 มาตรการส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยรัฐบาลอุดหนุนดอกเบี้ยประมาณ 7,500 ล้านบาท ทุกมาตรการที่ออกมาครั้งนี้จะช่วยทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ ปัจจุบันต้องใช้เวลาประเมินอีกระยะหนึ่ง จากนั้นจึงพิจารณาการออกมาตรการชุดใหม่เข้ามาดูแล

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

สำหรับรายละเอียดของมาตรการมีดังนี้คือ มาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย 4 มาตรการดังนี้ 1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเตรียมวงเงินไว้ 150,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 2 % ระยะเวลา 2 ปี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย

2.มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะดำเนินการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

3.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากโควิด-19 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการหารือกับสถาบันการเงิน และธนาคารพาริชย์ เพื่อดำเนินการบางอย่างผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุกง่ายขึ้น มาตรการนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว

4.มาตรการเสริมจากสำนักงานประกันสังคม ที่ประสงค์ที่จะให้สินเชื่อวงเงิน 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3 % ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้กู้แก่ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคม

ส่วนมาตรการภาษี ประกอบด้วย 4 มาตรการย่อย ได้แก่ 1.มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 ก.ย.63 และลดเหลือ 2% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามข้อกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. -31 ธ.ค.64 ที่จ่ายผ่านระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์

2.เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมีการจัดทำบัญชีเดียว สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับรายจ่ายดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.63

3.เอสเอ็มอีสามารถหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายค่าจ้างของเดือนเม.ย.-ก.ค.63

4.เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ กรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ทางอินเทอร์เน็ตจะได้รับคืนภายใน 15 วัน และกรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาจะได้รับคืนภายใน 45 วัน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ดังนี้ การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ให้บ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก 21.5 ล้านราย จะทยอยคืนตั้งแต่เดือนมี.ค.63 คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 30,000 ล้านบาท

ตรึงค่าเอฟทีเดือนพ.ค.63 โดยลดลง 11.60 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นเงิน 4,534 ล้านบาท และการลดค่าไฟฟ้า 3 % ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิย.63 พร้อมขยายเวลาจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท การไม่คิดค่าปรับ หรือดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาผ่อนผัน โดยไม่มีการงดจ่ายค่าไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว พร้อมกับผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล

นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง เหลือ 0.1 % ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 3 ,ลดหรือชะลอหรือเลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่าราชพัสดุ ค่าตอบแทนในการให้บริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการ ,การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 63 ,การสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน พร้อมกำหนดแนวทางให้ส่วนราชการสามารถจ่ายเงินเพื่อป้องกัน เยียวยา สร้างแรงจูงใจในการคงการจ้างงาน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นการเฉพาะและเร่งด่วน โดยได้เตรียมวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จากงบกลาง เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเฉพาะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน