รบ.ออกมาตรการอีก พยุงนายจ้าง-ลูกจ้าง ผ่อนปรนต่างด้าวอยู่ไทยถึง 30 มิ.ย.

โควิด -แรงงาน / เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 24 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงมาตรการช่วยเหลือแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า

เกาะติดข่าวโควิด กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account
เพิ่มเพื่อน

ครม.เห็นชอบ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ 4 เรื่อง คือ ผ่อนปรนการดำเนินการตามมติครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 เกี่ยวกับการแรงงานต่างด้าว สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมาโดยเป็นการผ่อนปรนแนวทางบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวในปี 2562 – 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-วันที่ 30 มิ.ย.2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งนายจ้างหรือผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานจะต้องยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ และไม่สามารถดำเนินการขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป เพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนดเวลา ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563

และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด โดยยกเว้นการปฏิบัติตามคำสั่งรมว.มหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่องการไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ขณะที่กระทรวงแรงงานผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ และใช้บัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวที่กรมการจัดหางานออกให้และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวจนกว่าจะไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน หลังสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า 2.ครม.รับทราบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน พ.ศ. …. ตามที่ กระทรวงแรงงาน เสนอโดยให้นายจ้างที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ดังนี้

ค่าจ้างงวดเดือนมี.ค. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 ก.ค. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเม.ย.2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 ส.ค. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนพ.ค.2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงเงินนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 ก.ย.2563 และให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาตรา 39 วรรคสาม ดังนี้

เงินสมทบงวดเดือนมี.ค. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 ก.ค. 2563 เงินสมทบงวดเดือนเม.ย. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 ส.ค. 2563 เงินสมทบงวดเดือนพ.ค.2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นการยื่นเวลาทั้งฝ่ายลูกจ้างแบะนายจ้างออกไป3เดือน นอกจากนั้นครมเห็นชอบอัตราการส่งเงินสมทบของลูกจ้างเหลือเพียง 1% เป็นเวลา3เดือน เช่นกัน

3.ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ มีสาระสำคัญ ดังนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับการรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563-28 ก.พ.2565และเพิ่มอัตราเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ70 ของค่าจ้างรายวัน สำหรับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างโดยให้ได้รับครั้งละไม่เกิน200วัน รวมทั้งเพิ่มอัตราเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ45 ของค่าจ้างรายวันสำหรับการว่างงาน เพราะเหตุลาออกจากงานหรือเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นโดยให้ได้รับครั้งละไม่เกิน90 วัน

และ4 ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ส.ค.2563 โดยแก้ไข คำนิยาม “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ธรณีพิบิติภัย หรือภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งรวมถึงโควิด-19 ตลอดจนภัยอื่นไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซี่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามาถประกอบกิจการได้ตามปกติ

โดยให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ไม่เกิน180 วัน ส่วนกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง ไม่เกิน60วัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการชดเชยกำลังซื้อที่ลดลงจากการไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างการหยุดการประกอบกิจการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน