กระทรวงการคลัง เคาะแผนกู้ 1.49 ล้านล้าน สู้วิกฤตโควิด 6 เดือน ประเดิมกู้แบงก์ แบ่ง 7 หมื่นล้านแจกเยียวยา 5 พันบาทในเดือนพ.ค.

วันที่ 22 เม.ย. นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) ครั้งที่ 2/2563 ที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นประธานว่า

คลังได้ปรับแผนก่อหนี้สาธารณะ หลังพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้ จึงต้องนำมาเข้าบรรจุในแผนก่อหนี้ใหม่ โดยปีงบประมาณ 2563 ช่วงที่เหลืออีก 6 เดือน คาดว่ารัฐบาลจะกู้เงินจาก พ.ร.ก. 6 แสนล้าน ส่วนอีก 4 แสนล้านบาทจะกู้ในปี 2564 แต่ถ้าเกิดใช้มากกว่า 6 แสนล้านบาท สามารถปรับแผนเพิ่มเติมได้

การประชุมครั้งนี้มีเรื่องการก่อหนี้ใหม่ ตามพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่ม 6.03 แสนล้านบาท และเป็นการปรับแผนก่อหนี้เดิม เพราะมีหลายหน่วยงานขอเพิ่ม-ลดอีก 2.4 แสนล้านบาท ด้วยวิธีเพิ่มวงเงินกู้ ปรับโครงสร้างหนี้ ตั๋วเงินคลัง ชดเชยขาดดุล ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบแล้วเตรียมเสนอเพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบสัปดาห์หน้า

นางแพตริเซีย กล่าวว่า จากแผนปรับปรุงก่อหนี้ดังกล่าว จะทำให้ปีงบประมาณ 2563 ในช่วงที่เหลืออีก 6 เดือน ต้องกู้ใหม่ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 6.03 แสนล้านบาท จากแผนเดิมที่จะต้องก่อหนี้ 8.94 แสนล้านบาท รวมเป็นเป็น 1.497 ล้านล้านบาท โดยในส่วนการกู้เงินตามพ.ร.ก.นั้น สบน.จะทยอยกู้ตามความต้องการใช้เงิน จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการก่อน และเสนอเข้าครม. ขณะเดียวกันสบน.จะเตรียมการกู้เงินไว้ให้ เมื่อผ่านครม.จะได้เบิกจ่ายเงินกู้ทันเวลา

สำหรับการกู้เงิน เครื่องมือการกู้ จะมีทั้งระยะสั้นและยาว ระยะยาวคือพันธบัตรรุ่นต่างๆ ระยะสั้นมีทั้งเครื่องมือการกู้จากธนาคาร การกู้ระยะยาว (เทอมโลน) ตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) และตั๋วเงินคลัง (ทีบิว) รวมทั้งการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ขายให้รายย่อยประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งใช้เวลา 1-2 เดือนก่อนเปิดขาย กำลังดูเครื่องมือว่าจะออกแบบไหนอย่างไร เพราะเป็นจำนวนที่ใหญ่กว่าปกติในช่วงครึ่งปีหลังที่ออกประมาณ 2-2.5 หมื่นล้านบาท

นางแพตริเซีย กล่าวว่า หลังจากที่ครม.เห็นชอบแผนการก่อหนี้ และคณะกรรมการการกลั่นกรองเห็นชอบแผนการใช้เงินจากพ.ร.ก.กู้เงินแล้ว หน่วยงานแรกที่จะใช้เงินทันที คือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะใช้เงินเยียวยารอบที่ 2 สำหรับแจกเงิน 5,000 บาท ในมาตรการเราไม่ทิ้งกัน วงเงินก่อนหนี้ 7 หมื่นล้านบาท โดยคลังออกจดหมายชี้ชวนถึงสถาบันการเงิน ให้เข้าร่วมประมูลเงินกู้แล้ว และคาดว่า สบน.จะเตรียมเงินพร้อมภายในวันที่ 5 พ.ค. เพื่อให้เบิกจ่ายเงิน 5,000 บาท ในกรอบ 14 ล้านคน ได้ภายในวันที่ 8 พ.ค.นี้

การกู้เงินก้อนแรก 7 หมื่นล้านจากพ.ร.ก.กู้เงิน จะเป็นการกู้จากธนาคารในประเทศเปิดประมูลในวันที่ 29 เม.ย. เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 4 ปี โดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นสำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารของตลาดกรุงเทพฯ หรือ BIBOR (Bangkok Interbank Offered Rate) ปัจจุบันอยู่ที่ 0.97 % บวก 5 ทศนิยม ส่วนการกู้เดือนต่อไปต้องดูหลายๆ อย่าง ต้องรอดูว่าจะต้องมีเยียวยาใครอีกเท่าไหร่ อย่างไร ยังไม่ทราบตัวเลข ถ้ามีตัวเลขออกมาก็จะสามารถดำเนินการได้ตามความต้องการ

สำหรับการกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ให้อำนาจกู้เงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่สบน.คงดูในประเทศเป็นหลัก แต่ต้องวิเคราะห์ความคุ้มค่าคุ้มทุน วิเคราะห์สภาพคล่องในประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าการออกพ.ร.ก.ไม่ไปช็อกตลาด จนทำให้สภาพคล่องในประเทศมีปัญหา เพราะธนาคารเองก็เตรียมความพร้อมในการดูแลลูกค้า แต่การกู้ในประเทศไม่ต่ำ 80% ส่วนต่างประเทศสัดส่วน 20% ต้องดูว่าที่ไหนเหมาะสม และจะดำเนินการอย่างไร ต้องดูเผื่อไว้ มีองค์การระหว่างประเทศมาคุยด้วยหลายแห่ง ทั้งเวิลด์แบงก์ เอดีบี แต่ทั้งต้องหารือกันก่อน

ทั้งนี้ วงเงินกู้ 1.497 ล้านล้านบาทส่งผลให้เพดานหนี้สาธารณะสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 51.84% ถ้าตามคำนวณ ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 57.96% บนสมมุติฐานจีดีพี 3% แต่คงต้องมานั่งดูตัวเลขกันใหม่ ถ้าจีดีพีไม่ได้ 3% หนี้ก็อาจจะเพิ่ม ส่วนกรอบการก่อหนี้ 60% เป็นกรอบวินัยที่ดี แต่ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม จริงๆ แล้วตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังให้ทบทวนทุก 3 ปี ปีหน้าจะถึงเวลาทบทวนต้องมาดูสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นอย่างไร เหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นอย่างไร ต้องย้อนว่าที่ผ่านมาเรามีวินัยเรื่องหนี้ดีมาก วันนี้เป็นประเด็นที่เราต้องกู้มาช่วยประเทศ การที่หนี้จะโตหรือใกล้ ทะลุไปนิดหน่อย ก็ต้องมานั่งดูกันว่าไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียขนาดนั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน