คลัง ผุดไอเดีย ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกัน สานต่อแจก 5,000 บาท ผุดคลินิกหมอคลังลุยผ่าตัดคนจน ดึงแบงก์รัฐหว่านเม็ดเงินสินเชื่อเพิ่ม

วันที่ 25 พ.ค. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจัดทำโครงการก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19 เพื่อดูแลเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการสานต่อโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว ทั้งการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระและเกษตรกร การดูแลแรงงานในระบบประกันสังคม

โดยหลังจากนี้จะเดินหน้าสู่การฟื้นฟู ด้วยการจัดตั้งทีมเราไม่ทิ้งกัน เพื่อติดตาม สำรวจและรับทราบความเดือดร้อน พร้อมเร่งเยียวยาฟื้นฟู คืนอาชีพ คืนรายได้ให้กับประชาชน รวมถึงออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

คลังมีข้อมูลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการเยียวยา ทำให้สามารถนำข้อมูลมาประมวลผล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจะส่งทีมเราไม่ทิ้งกันลงพื้นที่สำรวจ ประเมินสภาพความเป็นอยู่ เพื่อทราบความเดือดร้อนและความต้องการพื้นฐานของผู้ได้รับการเยียวยาทั่วประเทศอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้จัดให้มีคลินิกคลังสมอง หมอคลัง เราไม่ทิ้งกัน ซึ่งต่อยอดมาจากการรับเรื่องร้องทุกข์เงินเยียวยา ตามสาขาของธนาคารรัฐทั่วประเทศ โดยจะให้บริการรับปรึกษาเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ ทั้งด้านอาชีพ บริการทางการเงิน ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นต้น และเมื่อได้รับทราบเรื่องราวร้องทุกข์แล้วจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามเรื่องเพื่อแจ้งผลให้กับประชาชนผู้ร้องทุกข์ต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดอบรมอาชีพ ด้วยการเสริมสร้างทักษะอาชีพใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่จะเปลี่ยนไปหลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งได้มอบหมายให้ธนาคารรัฐออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่างๆ ดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคล และภาคธุรกิจ พร้อมสร้างตลาดใหม่ ปรับปรุงตลาดเก่าให้ได้มาตรฐาน และยังมีนโยบายจัดกิจกรรมสัญจรตามภูมิภาค เพื่อพบปะ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้ได้รับการเยียวยากระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจจากชนบทสู่เมือง จากฐานรากสู่ระดับประเทศ

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เตรียมออกสินเชื่อช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกร หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายแล้ว ได้แก่ 1.สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท 2.สินเชื่อนิวเจนฮักบ้านเกิด วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท และ 3.สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ เพื่อเป็นเงินทุนในการทำการเกษตรระยะสั้น ปีการผลิต 2563/64 วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยทั้ง 3 โครงการอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ซึ่งธ.ก.ส.จะเร่งนำเสนอโครงการ เพื่อให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาเห็นชอบโดยเร็วต่อไป

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ได้กำหนดแนวทางเยียวยา ฟื้นฟู ส่งเสริมอาชีพ คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน ผ่าน 4 กระบวนการ คือ มาตรการเสริมสภาพคล่องต่อเนื่องหลังจากการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนสิ้นสุด ด้วยการพักชำระหนี้ต่ออีก 2 ปี โดยให้เลือกชำระดอกเบี้ย 50-100% ได้ตามความสามารถและยังคืนดอกเบี้ยให้อีก 20% รวมถึงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาผ่อนนาน จำนวน 4 ประเภท วงเงินสินเชื่อประเภทละ 1 หมื่นล้านบาท รวม 4 หมื่นล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ สินเชื่อคลายกังวล และสินเชื่อซอฟท์โลนเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยว

นายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการ และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ได้จัดทำโครงการ ธอส.ปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน เพื่อฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านโครงการบ้าน ธอส.เราไม่ทิ้งกัน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้กู้สำหรับบุคคลในครอบครัวของประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราไม่ทิ้งกันของรัฐบาล หรือบุคคลในครอบครัวของลูกค้า ธอส. ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ โดยผู้กู้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.99% ต่อปี นาน 2 ปีแรก ปีที่ 3 ดอกเบี้ย 3.75% ต่อปี ปีที่ 4 ดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี และปีที่ 5 จนตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ย MRR-1.00%ต่อปี กรณีรายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ย MRR-0.75% ต่อปี ให้ผ่อนชำระนาน 40 ปี ยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. – 30 ธ.ค. นี้

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า หลังจากดำเนินมาตรการ ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม ซึ่งมีเอสเอ็มอีเข้าสู่มาตรการแล้ว 9.45 พันราย คิดเป็นมูลค่า 1.49 หมื่นล้านบาทแล้ว ธพว. ยังดำเนินมาตรการช่วยเหลือภายใต้แนวคิดมอบวัคซีน ความรู้คู่เงินทุน นอกจากการเติมเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแล้ว ธนาคารจะเติมความรู้ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถปรับตัวทางธุรกิจตอบโจทย์ผู้บริโภคยุค New Normal และดำเนินธุรกิจต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ต่อยอดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ด้วยโครงการสินเชื่อเราไม่ทิ้งกันกับธุรกิจรายย่อย รวมทั้งลูกค้าธุรกิจขนาดกลาง หรือเอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ โดยเฉพาะการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ เพื่อช่วยยกระดับลูกค้าเอสเอ็มอีเข้าสู่ธุรกิจในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ออกมาตรการระยะสั้นเกี่ยวกับมาตรการด้านภาษี ผ่านหลักปฏิบัติ 4 เรื่อง ได้แก่ เลื่อน เร่ง ลด และแรงจูงใจ เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 โดยระยะต่อไปกรมฯ จะเร่งนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นในช่วงที่ทุกคนอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติจนถึงเมื่อสถานการณ์ปกติ เพื่อให้เกิดดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่นในทุกภาคส่วน โดยจัดทำระบบ แท็กซ์ ฟอร์ม โฮม ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษีและการคืนภาษี ไปจนถึงการจดทะเบียนต่างๆ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนผู้เสียภาษี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน