ศิริราชเตือน ห่วงไทย โควิด ระบาดรอบ 2 ไร้ติดเชื้อ 28 วันก็ยังไม่ปลอดภัย ยก “จีน” ปลอดโรค 57 วันยังระบาดใหม่ได้ ย้ำการ์ดอย่าตก

วันที่ 23 มิ.ย. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงผ่านเฟซบุ๊กสรุปสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จากทั่วโลก และการปรับกระบวนทัศน์แบบองค์รวมที่ประเทศไทยต้องทำให้เกิดสมดุลของสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมว่า

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเตือนการเข้าสู่ช่วงเวลาใหม่และอันตรายของเชื้อโควิด-19 หรือการระบาดระลอก 2 เนื่องจากแต่ละวันตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยใหม่และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในประเทศที่เคยควบคุมได้ดี เช่น กรณีกรุงปักกิ่ง กรุงโซล โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า 81 ประเทศมีอุบัติใหม่ต่อวันเพิ่มสูงขึ้น มีเพียง 36 ประเทศที่ลดลง

“ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกมีอัตราเพิ่มขึ้น อย่างวันที่ 12 มิ.ย. ป่วยเพิ่มขึ้น 1.37 แสนราย วันที่ 20 มิ.ย. ขึ้นไปที่ 1.8 แสนรายใน 1 วัน เมื่อดูย้อนหลัง อุบัติการณ์ก็มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อัตราการเสียชีวิต 4-6 พันรายต่อวัน ตอนแรกดูลดลงตอนนี้ก็เริ่มกลับขึ้นมา อย่างสหรัฐอเมริกาตัวเลขรายใหม่ต่อวันก็เพิ่มขึ้นจาก 2 หมื่นกว่ารายมาเป็น 3 หมื่นกว่าราย” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า กลุ่มประเทศที่มีการเปิดประเทศผ่อนคลายเร็วเกินไปและเกิดการก้าวกระโดดของผู้ป่วยใหม่และอัตราเสียชีวิต เช่น สหรัฐอเมริกาและบราซิล ส่วนบางประเทศเกิดระบาดใหญ่มีแนวโน้มเริ่มลดลงและกลับขึ้นมาอีก ก็คือกลุ่มประเทศยุโรป รวมทั้งเอเชียบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า รูปแบบการกลับมาระบาดระลอกใหม่ มี 3 รูปแบบ คือ 1. เป็นคลื่นลูกเล็กๆ ต่อเนื่องกันไป คือ ระบาดรอบแรกสูง พอเริ่มลดลง เข้าสู่การผ่อนคลาย แต่เกิดการติดเชื้อขึ้นมาใหม่ เมื่อรัฐบาลจัดการทันทีได้ โดยเฉพาะการค้นหาผู้เสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อ ก็จะควบคุมเฉพาะจุดหรือธุรกิจที่มีปัญหา ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ยังดำเนินการได้ เศรษฐกิจประเทศจะไปต่อได้ ประชาชนออกจากบ้านไปร่วมกิจกรรมได้ แต่ต้องลดความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อด้วย

ซึ่งจะเกิดภาพนี้ได้ ผู้ประกอบการและประชาชนต้องให้ความร่วมมือด้วย ที่สำคัญผู้ป่วยจะไม่เกินศักยภาพการดูแล อัตราการเสียชีวิตจะต่ำ ค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพไม่สูง ไม่เกิดค่าใช้จ่ายของประเทศที่ไม่จำเป็น หากประเทศไทยจะมีการระบาดรอบใหม่ขึ้นจริง ก็ขอให้เป็นภาพเช่นนี้

“ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การผ่อนคลายระยะที่ 5 จะผ่อนคลายกว่าเดิมมากในหลายด้าน หมายความว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยอยู่บ้าน การออกมานอกบ้านก็มีส่วนให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น จากการใช้ชีวิต จับจ่ายใช้สอย แต่ก็มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเชื้อได้ ก็ต้องร่วมมือกันทำแบบเดิม เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก และการใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ เช็กอินเช็กเอาต์ ซึ่งจะช่วยติดตามกลุ่มเสี่ยงได้ชัดเจน” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า รูปแบบที่ 2 คือ เป็นยอดเขาและหุบเขา หากเราไม่ช่วยกันเต็มที่ อาจจะเกิดรูปแบบนี้ คือ รอบแรกเกิดขึ้นมาสูง หลังผ่อนคลายก็เกิดติดเชื้อขึ้นมาใหม่ใกล้เคียงกับครั้งแรก แปลว่ามาตรการควบคุมจะกลับมาเข้มงวด เศรษฐกิจ ธุรกิจต่างๆ ก็ไม่สามารถทำได้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจก็จะช้า

การเจ็บป่วยกลับมาเยอะ ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะสูงขึ้น โอกาสเสี่ยงเสียชีวิตก็จะมากขึ้นตามจำนวนการป่วย หรือรูปแบบที่ 3 ที่เราไม่อยากให้เกิด คือ รอบแรกเจ็บป่วยเสียชีวิตสูง แต่ครั้งที่ 2 เจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้นกว่ามากมาย แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดแบบนี้ในโลกปัจจุบันจากบทเรียนในอดีต

“ปัจจัยที่ทำให้โควิดแต่ละประเทศมีความรุนแรงมากน้อยต่างกัน คือ 1. คน ทั้งวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ พฤติกรรม วินัย สิ่งต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญผมเชื่อว่าทำให้ไทยและภูมิภาคแถวนี้จะดการได้ค่อนข้างดี 2. การบริหารจัดการ จังหวัการตัดสินใจ ดูความสมดุลสุขภาพเศรษฐกิจสังคม ไม่ให้ด้านใดด้านหนึ่งมากไปจนด้านอื่นเสียหาย แต่เริ่มต้นต้องให้ความสำคัญสุขภาพก่อน หากสุขภาพดีขึ้น เศรษฐกิจจะดี สังคมจะดีขึ้น หากสุขภาพแย่จำนวนคนไข้ใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน คนในประเทศคงไม่มีความสุขใจ การประกอบอาชีพต่างๆ ก็ลำบาก

3. เทคโนโลยี ทั้งการตรวจ สืบสวนติดตาม การรักษาพยาบาล พัฒนาวัคซีน 4. สถานการณ์ในประเทศต่างๆ เราไม่สามารถแยกตัวจากประเทศอื่น หากรอบตัวยังมีการติดเชื้อ ก็มีโอกาสหลุดเข้ามาและแพร่ระบาดในไทยได้ ต้องติดตามเพื่อวางแผน และ 5. ตัวไวรัส ว่าจะมีการกลายพันธุ์ให้ก่อให้เกิดผลกระทบการเสียชีวิตที่ชัดเจนแตกต่างจากก่อนหน้านี้หรือไม่” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ประเทศไทยต้องการอยู่ในสมดุลสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม หากคน 3 กลุ่ม คือ รัฐบาล ผู้ประกอบการ และผู้รับบริการ มีความสมดุลก็จะอยู่ในจุดสมดุลได้ โดยรัฐบาลต้องกำหนดนโยบาย ออกมาตรการควบคุมให้ปลอดภัยจากโรค ผู้ประกอบการนำมาตรการไปทำ ซึ่งจากการติดตามช่วงผ่อนคลาย 4 ระยะ ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดีมาก แต่ระยะหลังเริ่มคลายลง ส่วนผู้รับบริการ คนไทยทำได้ดีมากใน 3-4 เดือนที่ผ่านมา ชาติวิกฤตเราช่วยกัน แต่เดือนที่ผ่านมา เริ่มวางใจว่า คงไม่มีผู้ป่วยใหม่ในประเทศ จึงเริ่มไม่ใส่หน้ากาก ไม่จัดระยะห่าง ซึ่งการผ่อนคลายไปนิดเดียวอาจเกิดระบาดรอบใหม่ขึ้นมาได้

“หลายประเทศเกิดระบาดรอบ 2 แล้ว แต่หากจำนวนผู้ป่วยไม่มาก เพราะติดตามตัวได้ กิจการธุรกิจยังเดินต่อได้ ถ้าไม่ช่วยกัน คนติดเชื้อมาก เสียชีวิตมาก เศรษฐกิจแย่ลงแน่นอน นอกจากนี้ การที่เจอเพียงแต่ผู้ป่วยที่กลับมาจากต่างประเทศ ไม่ได้สื่อว่าประเทศเราปลอดภัยจากเชื้อ เพราะมีโอกาสจะมีอะไรเกิดขึ้นในที่ใดที่หนึ่งได้

เช่น เกาหลีใต้ เจอในธุรกิจขายส่ง เยอรมนี เกิดในโรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ มีผู้ป่วยใหม่ 1,500 ราย เป็นพันคนต้องแยกมากัก สั่งปิดเมือง ปิดโรงเรียนไปแล้ว หรือจีนที่ไม่มีติดเชื้อในประเทศ 57 วัน แต่ตลาดทางตอนใต้ปักกิ่งติดเชื้อและแพร่กระจาย ซึ่งยังกลับมาได้ แต่ไทยเรา 28-29 วันเท่านั้น ถึงแม้ว่าไม่ได้ตรวจวัดภูมิคุ้มกันของคนไทยทุกคน แต่เชื่อว่าคนไทยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 น้อยมาก” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ที่ศิริราชมีการศึกษาภูมิคุ้มกันของนักศึกษาแพทย์ พบว่าไม่มีเลย ส่วน รพ.รามาธิบดี ศึกษาภูมิคุ้มกันของบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 พบว่า มีภูมิคุ้มกันแค่ 3% แต่สำหรับสังคมไทยทั่วไป เรามีผู้ป่วยติดเชื้อแค่ 3 พันกว่าคน เชื่อว่าสังคมไทยโดยภาพรวมเชื่อว่ามีภูมิคุ้มกันโรคนี้น้อยมาก

หากมีการหลุดของเชื้อจากข้างนอกเข้ามา แล้วเราไม่รู้ว่าคนเหล่านี้ไปที่ไหน ติดต่อกับใคร ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้เร็ว จะทำให้เกิดการแพร่กระจายกลับมาอีก เราจำเป็นต้องร่วมมือกันป้องกันการติด การแพร่เชื้อจนกว่าจะมีวัคซีน ดังนั้น ขอว่าอย่าการ์ดตก หากพลาดแค่นิดเดียว วันเดียว สถานการณ์จะเปลี่ยน สิ่งที่เราพยายามสร้างสมดุลสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมจะเสียไป

“ประเทศไทยจะชนะโควิด-19 หรือไม่ อยู่ที่คน เราควบคุมสถานการณ์ได้ดี และผ่อนคลายกันมาสักระยะแล้ว เชื่อว่าไม่มีใครอยากกลับไปเป็นเหมือนเมื่อก่อนอีก หวังว่าวัคซีนจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน เมื่อเราร่วมมือกัน ประเทศก็ปลอดภัย คนไทยปลอดภัย เศรษฐกิจไทยปลอดภัย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน