สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งรับมือโรงงานปิด-คนตกงาน เตรียมเงินกู้ 4 แสนล้านเข้าช่วยเหลือ คลังเล็งมาตรการล้วงคนมีเงินไปเที่ยวไทย

วันที่ 2 ก.ค. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามนโยบายเศรษฐกิจ ร่วมกับ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ว่า ประเด็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากขณะนี้ คือ การจ้างงาน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก โดยต้องพิจารณาใน 2 เรื่อง คือ 1.การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้โรงงานเริ่มปิด มีคนว่างงานแล้วเดินทางย้ายกลับถิ่นฐาน ซึ่งรัฐบาลเตรียมเงินกู้ไว้ 4 แสนล้านบาท จากพระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเข้าไปดูแล โดยกำชับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เน้นใช้งบที่เกี่ยวกับการสร้างงานเป็นภารกิจหลัก

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

2.ส่วนกลุ่มที่การว่างงานยังไม่เกิด แต่ไม่ต้องการให้เกิด ภาคธุรกิจต้องหยุดกิจการ หรือชะงัก โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปเตรียมมาตรการด้านการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อรอให้แพ็กเกจท่องเที่ยวออกมา อุปสงค์ภายในประเทศจะเริ่มดีขึ้น ส่วนต่างประเทศ ศูนย์โควิด (ศบค.) กำลังดูว่าจะเปิดให้เดินทางได้เมื่อไหร่ ก็หวังว่าท่องเที่ยวจะเข้ามา และมาตรการท่องเที่ยวของท่องเที่ยวจะออกมาทันเวลา

“ได้ถาม รมว.คลังว่า ยังมีอีกหลายจุดที่มาตรการท่องเที่ยวยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น อยากให้ สศค. ไปดูส่วนนี้ว่าเวลาจะให้นักท่องเที่ยวไปจังหวัดต่าง ๆ ลงไปท้องถิ่น จะมีอะไรที่ต้องออกมาบ้าง ทาง สศค.รับไปแล้ว และกำชับสรรพากรช่วยคิดนโยบายการกระตุ้นการบริโภค เพราะเรารู้ว่าอำนาจซื้ออยู่ในระดับบน มีเงินสะสมเยอะ ใช้จ่ายเยอะ แต่ข้างล่างลำบาก อยากให้มาบริโภคในช่วงเวลานี้เพื่อให้เงินกระจายไปสู่พี่น้องที่ลำบากกว่า ซึ่งมาตรดารต้องแล้วเสร็จในกลางเดือน ก.ค.นี้” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า อีกส่วนที่สำคัญคือ ปัญหาหนี้เสีย ที่โควิดทำให้ธุรกิจประสบปัญหามาก ถ้าไม่ไปช่วยในขณะนี้ก็ไม่มีทางเลือก ก็ต้องลดคนงานในที่สุด ก็ต้องการหยุดที่ต้นทาง ซึ่งขณะนี้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางแลขนาดย่อม (สสว.) กำลังทำกองทุนคนตัวเล็กที่จะให้สภาพคล่อง เงินทุนบางส่วนและทำให้แข็งแรงพอขอสินเชื่อในระบบได้ ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบวันที่ 8 ก.ค.นี้

ในส่วนของธุรกิจที่มียอดสินเชื่อคงค้างมากกว่า 500 ล้านบาท ที่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือ ขอให้ธุรกิจไม่ว่าธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็กที่ไม่เข้าข่าย พ.ร.ก.ซอฟท์โลนของ ธปท. ต้องมีการจะเซ็ตกลไกใหม่ที่จะช่วยได้ รวมถึงอุตสาหกรรมบางประเภทที่อยากรักษาไว้ จะเป็นรูปเป็นร่าง โดยมอบหมายให้ ธปท. ไปดู และเสนอมาในช่วงกลางเดือน ก.ค. เช่นกันถ้าทำอย่างนี้เอาไว้ หวังว่าการส่งออกจะฟื้นปลายปี ถึงต้นปีหน้า สถานการณ์จะดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการร้องขอให้เลื่อนชำระหนี้ให้ยาว จากเดิมที่มาตรการ ธปท. ช่วยชะลอชำระหนี้ถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ได้ให้คลังพิจารณาอยู่ ทุกหน่วยที่เกี่ยวพยายามดูแลในสิ่งที่เราจะดูแลได้ พยายามหยุดปัญหาที่ต้นทาง ไม่ใช่รอธุรกิจไปแล้วถึงมารักษา ทุกอย่างให้การบ้าน รมว.คลัง ไปแล้ว

นายอุตตม กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี การสนับสนุนให้มีการปล่อยสินเชื่อให้กว้างขวาง ได้สั่งการไปที่บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้เตรียมออก PGS9 เพื่อช่วยสนับสนุนให้การปล่อยซอฟท์โลนของ ธปท. กว้างขวางขึ้น ซึ่งจำนวนเงิน บสย. กำลังหารือกับ สศค. คาดว่าจะเดินหน้าภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์จะได้เห็นบางโครงการเริ่มออกมา

กองทุน สสว. เดินหน้าอยู่ เข้ากลั่นกรอง เข้า ครม. ต่อไป จะได้ชี้แจงในรายละเอียดถึงรูปร่างหน้าตาเป็นไง ในวงเงิน 5

สำหรับมาตรการกระตุ้นการบริโภคของกรมสรรพากร จะสนับสนุนแพ็คเกจท่องเที่ยว ตอนนี้บางอย่างมีคล้ายมาตรการชิมช้อปใช้อยู่ แต่ที่คุยกันวันนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังมีความจำเป็นต้องขยายวง จะดูว่ามีอะไรเสริมได้อีก ไม่ใช่เรื่องที่คลังจะมานั่งคิดใหม่หมด เป็นเรื่องของท่องเที่ยว ลดหย่อนก็จะดูพร้อมกันว่ามาตรการไหนบ้าง ต้องเป็นชุด

“เราต้องไปดูว่า แพ็คเกจที่จะออกมาดึงให้คนใช้เงินในประเทศ และต้องไปช่วยพัฒนางาน ธุรกิจในระดับชุมชน เรื่องของผู้ประกอบการ โรงแรมโดยเฉพาะขนาดเล็ก ถ้าทำได้ช่วยให้คนไป เป็นประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยวท้องถิ่น เพื่อดึงเงินในกระเป๋าคนมีอยู่ มาตรการจะกระตุ้นอุปสงค์มากขึ้น ซึ่ง สศค. จะไปดู” นายอุตตมกล่าว

รายงานข่าวกล่าวว่า ในที่ประชุม นายสมคิดได้กำชับให้เตรียมมาตรการ สนับสนุนการท่องเที่ยว สำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเกษียณอายุ ให้ออกมาเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ ทำให้มีเงินเหลือใช้เยอะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน