อนุทิน เรียก สปสช.แจง คลินิกชุมชนอบอุ่น ทุจริตเบิกจ่ายงบตรวจสุขภาพป้องกันโรค พบทำผิด 18 แห่ง เบิกเงินไปเกิน 72 ล้านบาท ติดตามคืนแล้ว 60.77 ล้านบาท ชี้ตกแต่งตัวเลข

วันนี้ (3 ก.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนพิมาย เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ประชุมหารือถึงกรณีข้อมูลการทุจริตเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในส่วนของคลินิกชุมชนอบอุ่นจำนวน 18 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งได้มีการอภิปรายในสภาเมื่อเร็วๆ นี้

นายอนุทินให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ตนได้เรียก สปสช.มาประชุมชี้แจงร่วมกับผู้บริหาร สธ. ก็พบว่า เรื่องนี้เกิดจากการที่ สปสช.เห็นข้อมูลความไม่ปกติของคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ส่อไปในทางทุจริต โดยมีการส่งใบเรียกเก็บเงิน และบอกว่าได้ทำการตรวจเช็กสุขภาพประชาชนในเขต กทม. จึงทำการตรวจสอบและพบว่ามีการเรียกเก็บเงินเกินกว่างานที่ทำจริง

โดยยอดเงินที่เสียหายราว 72 ล้านบาทนั้น สปสช.ได้เรียกเก็บมาแล้วประมาณ 60.77 ล้านบาท ส่วนความผิดในทางคดีอาญา เลขาธิการ สปสช.ก็จะแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อไปตามขั้นตอน นอกจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่ดูแลเรื่องการให้ใบอนุญาตสถานพยาบาลแก่คลินิกต่างๆ ก็จะลงไปตรวจสอบอย่างละเอียด หากพบว่ามีการกระทำผิดตามมาตรา 73 พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจริยธรมและข้อมูลอันเป็นเท็จ ก็จะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตทั้งหมด

นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า คลินิกชุมชนอบอุ่มใน กทม.มีประมาณ 190 แห่ง โดยพบการกระทำผิด 18 แห่ง โดยพบว่ามีการตกแต่งตัวเลขเพื่อเบิกเงินจากทาง สปสช.ในส่วนของบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ในกลุ่มของโรคเมตาบอลิก คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เป็นต้น ซึ่งตามปกติแล้วคลินิกจะมีการตรวจคัดกรองประชาชว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคเหล่านี้หรือไม่

โดยทำการตรวจวัดน้ำหนัก ส่วนสูง วัดความดัน สอบถามประวัติความเสี่ยง เช่น ครอบครัวมีคนป่วยด้วยโรคเหล่านี้หรือไม่ หากไม่พบความเสี่ยงหรือไม่ผิดปกติก็จะแนะนำให้ไปตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี โดยการตรวจเหล่านี้จะเบิกจ่ายประมาณ 100 บาทต่อราย แต่หากมีความเสี่ยงผิดปกติ จะมีการเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจ ซึ่งรายการตรงนี้จะเบิกเพิ่มเติมอีก 300 บาท ซึ่งเราพบว่า มีการตกแต่งตัวเลข เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม แต่เขียนมาว่า 60 กิโลกรัม เพื่อให้ค่า BMI เกิน ว่ามีความเสี่ยงที่จะต้องเจาะเลือดเพื่อเอาเงิน 300 บาทตรงนี้

นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า การเบิกจ่ายนั้นทางคลินิกจะส่งชื่อ นามสกุล เลขประชาชน 13 หลัก มาเบิกจ่ายในแต่ละสิทธิประโยชน์ ซึ่งตามปกติ สปสช.จะมีการตรวจสอบ (Audit) เป็นประจำอยู่แล้ว และจะสุ่มตรวจประมาณ 5% ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยมีการโทร.ไปสอบถามผู้ป่วยว่ามีการตรวจมีการบริการเช่นนี้หรือไม่ด้วย

โดยในปีงบประมาณ 2562 เราดำเนินการตรวจสอบจนถึงช่วง ส.ค. 2562 ก็พบเห็นความผิดปกติ จึงขยายการสอบสวนทั้งหมดจนทราบจำนวนคลินิกและวงเงินที่เบิกไปเกิน มีการนำเรื่องของสู่คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ กทม.เมื่อ ก.ย.-ต.ค. 2562 และมีมติให้เรียกเงินคืน พร้อมแจ้งเรื่องมายัง สปสช.พิจารณา ซึ่งเราก็เห็นว่ามีมูล ทั้งนี้ การเรียกเงินคืนในส่วนที่เหลือกำหนดให้คืนภายในสิ้น ก.ย. 2563 นี้ อย่างไรก็ตาม จะมีการรวบรวมหลักฐานในแง่ของกฎหมาย เพื่อส่งเรื่องให้แก่ สบส.และแจ้งความฐานฉ้อโกงในคดีอาญาด้วย ซึ่งเอกสารต่างๆ เสร็จแล้ว ตนได้มอบอำนาจตัวแทนไปดำเนินการแล้ว

นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า หากมีการสั่งปิดคลินิกชุมชนอบอุ่นทั้ง 18 แห่ง จะมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการต้องไปรับบริการประมาณ 2 แสนคน แต่ สปสช.ได้เตรียมการรองรับไว้แล้ว คือ จะจัดหาคลินิกชุมชนอบอุ่นข้างเคียงที่ยังมีโควตารองรับได้ และผู้ป่วยเหล่านี้จริงๆ ยังมีหน่วยบริการประจำหรือ รพ.ตามสิทธิที่รับดูแลอยู่ เนื่องจากเรากระจายผู้ป่วยจาก รพ.มายังคลินิกชุมชนอบอุ่นเพื่อลดความแออัด

นพ.ธเรศกล่าวว่า สบส.จะตรวจสอบคลินิกดังกล่าว โดยจะพิจารณาตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล คือ 1. ความผิดทางอาญาในมาตรา 73 เรื่องการทำหลักฐานเท็จ การปลอมเอกสารเบิกจ่ายต่างๆ ซึ่งหากพบว่ามีความผิดจริง ก็จะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท และจะดำเนินการแจ้งความ สน.ในท้องที่ และ 2. มาตรการทางปกครอง ตรงนี้จะรอข้อมูลจาก สปสช. ว่ามีผู้เสียหายจากการดำเนินการนี้อย่างไร เช่น สปสช.เป็นผู้เสียหายจากการถูกฉ้อโกง หรือมีประชาชนได้รับความเสียหายหรือไม่ เพราะไม่ป่วยแต่ถูกวินิจฉัยว่าป่วย ต้องไปกินยาอะไรหรือไม่ ก็จะใช้อำนาจตามมาตรา 49 และ 50 ให้ระงับการดำเนินการ และหากมีความผิดร้ายแรงก็จะสั่งพักใช้ใบอนุญาต ทั้งนี้ เราจะส่งทีมลงไปตรวจสอบใน 3-4 วันนี้ด้วยในคลินิกทั้ง 18 แห่ง

เมื่อถามว่าการออกมาแถลงตรงนี้มีการมองว่าเกิดจากศึกซักฟอกที่ผ่านมา นายสาธิตกล่าวว่า ไม่ใช่ ต้องย้ำว่าการอภิปรายของ ส.ส.ในสภา เป็นกรณีที่ สปสช.ตรวจสอบพบเอง และเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 และตรวจสอบมาตลอด เมื่อสธ.รับทราบไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อเห็นข้อมูลจากการอภิปราย จึงมาเรียกประชุมเพื่อจัดการให้ดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายอย่างเด็ดขาด ไม่ได้หมายความว่าปกปิด หลักเป็นอย่างนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน