ยุคสมัยใหม่ทำให้คนใช้ชีวิตกันบนโลกออนไลน์เป็นปกติ ไม่ว่าจะกิน นอน ดีใจ เสียใจ ก็มักจะแชร์เรื่องราวต่างๆ ลงบนโลกออนไลน์ด้วย โดยล่าสุด เพจ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ปฏิปทาและคำสอน วัดสะแก อำเภออุทัย พระนครศรีอยุธยา ได้แชร์ภาพ ข้อปฏิบัติในการสวดมนต์ เพื่อเตือนใจชาวเน็ตทั้งหลาย คือ ห้ามไลฟ์สด สวดพระคาถาเบาๆ และห้ามแจกหนังสืออื่นในวัด และมีเหตุผลที่ชาวเน็ตต้องรับฟัง
โดยโพสต์ระบุว่า “วัดสะแก ที่มั่นด่านสุดท้าย ทำไมหนอ ทางวัดสะแกจึงต้องมีป้ายมาตั้งเด่นอยู่ที่หน้ากุฏิหลวงปู่
1) ห้ามไลฟ์สด : เพราะเริ่มมีคนมาสวดคาถาอวดกัน พร้อมแชร์ให้ชาวโลกรับทราบ ซึ่งเป็นการไม่ให้ความเคารพและทำลายความสงบของสถานที่
2) สวดคาถาเบาๆฯ : เพราะบางคนคุ้นเคยกับการสวดคาถาออกเสียงมาจากที่อื่น แต่ไม่ทราบว่าที่วัดสะแก ไม่เคยมีอย่างนี้ สมัยหลวงปู่ดู่ยังอยู่ มีแต่ภาพหลวงปู่ให้ลูกศิษย์หามุมนั่งสมาธิ บรรยากาศจึงมีแต่ความสงบเงียบ
3) ห้ามนำหนังสือที่อื่นมาแจก : เนื่องมาจากเกิดค่านิยมการบอกบุญจัดพิมพ์คู่มือการสวดคาถาบ้าง จัดหาลูกแก้วหรือวัตถุมงคลต่างๆ บ้าง มาวางแจกที่หน้ากุฏิหลวงปู่ เป็นลังๆ จนแน่นหน้ากุฏิหลวงปู่
เจ้าหน้าที่วัดคนหนึ่งเล่าให้ลุงสิทธิ์ฟังว่า เคยบอกคนที่ขนมาว่าต้องขออนุญาตเจ้าอาวาสก่อน แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ฟัง อ้างว่าได้บอกบุญกันมาหลายคน และทำมาแล้ว ไม่ต้องการขนกลับหรือนำไปแจกที่อื่น
ซึ่งแท้จริงแล้ว ยิ่งเผยแพร่มากเท่าใด ก็เท่ากับมีส่วนทำคำสอนและปฏิปทาหลวงปู่ให้คลาดเคลื่อนขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เพราะสมัยหลวงปู่ ท่านให้น้ำหนักกับเรื่องการรักษาศีล เจริญกรรมฐาน และเจริญปัญญา ส่วนคาถา ท่านก็แจก (เป็นกระดาษแผ่นเล็กๆ แผ่นเดียว) ให้ผู้ที่มาเช่าบูชาพระจากที่วัดสะแก เอาไว้ใช้สวดบูชาพระที่บ้าน โดยมิได้มีคู่มือหรือแนวทางการสวดว่าต้องสวดตามกำลังวัน หรือสวดกันแบบเอาเป็นเอาตายอย่างที่เผยแพร่กันในปัจจุบัน
ป้ายที่เห็นนี้ เกิดขึ้นเพราะ “ความไม่รู้กาลเทศะ” และ “ความไม่รู้ในปฏิปทาของหลวงปู่ดู่” ของคนยุคนี้ ด้วยว่ามีการเผยแพร่ที่คลาดเคลื่อนของกลุ่มคณะที่มิใช่วัดสะแก
วัดสะแก เปรียบเหมือนที่มั่นสุดท้าย ถ้าวัดสะแกไม่รักษาความบริสุทธิ์ในปฏิปทาและคำสอนหลวงปู่ จากกระแสภายนอกที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน ก็คงต้องทำใจว่าจะเป็นที่สิ้นสุดแห่งปฏิปทาและคำสอนหลวงปู่ดู่อย่างที่ท่านเป็น กลายมาเป็นหลวงปู่ดู่องค์ใหม่ที่ถูกสร้างให้เป็นบรมจักรพรรดิ หรือบรมโพธิสัตว์ แต่มิใช่พระโพธิสัตว์ตามคติพุทธที่มีไว้ให้เป็นแบบอย่างของผู้ฝึกฝนอบรมตนให้ถึงที่สุดและแบบอย่างผู้เสียสละ หากแต่เป็นอย่างคติเทวนิยมคือเป็นดุจเทพเจ้าที่มีไว้ให้อธิษฐานขอความร่ำรวยและความสำเร็จสมปรารถนาโดยปราศจากการกระทำเหตุปัจจัยที่ถูกต้องตามหลักกรรมและความเพียร”