รุมจวกบูรณะบานประตูโบราณ อายุ 100 ปี วัดดังเชียงใหม่ ลบลวดลายทิ้งเกลี้ยง อาจารย์ม.ดังตั้งคำถาม ไม่ใช่วิธีเปลี่ยนบานใหม่ ดีกว่าลบทิ้ง

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. เป็นอีกเรื่องราวสุดสะเทือนใจ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก คำโขก คำปรุง โพสต์ภาพบานประตูโบราณอายุร้อยกว่าปี ภายในวิหารวัดหมื่นล้าน ประตูท่าแพชั้นในเมืองเชียงใหม่ ถูกบูรณะด้วยการลบทิ้งลวดลายจารึก โดยเตรียมคัดลอกลายและจะเขียนขึ้นใหม่ในแบบฉบับเดิม ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงการบูรณะในลักษณะนี้ ซึ่งทำให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์สูญหายไป

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

โดยระบุว่า “เมื่อวันก่อนเข้าไปเยี่ยมชมการบูรณะพระวิหารวัดหมื่นล้าน ประตูท่าแพชั้นในเมืองเชียงใหม่ บานประตูนี้เป็นบานประตูที่ทำด้วยเทคนิคการทำลายรดน้ำ (เป็นหนึ่งในไม่กี่บานที่มีขนาดใหญ่และเป็นบานของวิหารหลักของวัดในเชียงใหม่ที่ยังเหลือ)”

ตรงที่ประตูมีการจารึกเป็นตัวธรรมล้านนาว่า “พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ แล จุลศักราช ๑๒๗๙ เดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วัน ๔ ได้สลางหน้ามุกวิหารหนังนี้ นิพพานปจฺจโยโหตุโนนิจจํ”

จากจารึกแล้วบานนี้ได้เขียนสร้างถวายพร้อมมุกหน้าพระวิหาร (ต่อเติมจากหลังเดิม) ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นบานประตูที่มีอายุไล่เลี่ยกันมาตลอดกับวันในเชียงใหม่หลายที่ แต่ในปัจจุบันเนื้องานโบราณได้รับการบูรณะด้วยการทำพื้นงานใหม่ทับลงไปบนงานโบราณ โดยได้รับข้อมูลมาว่าได้คัดลอกลายและจะเขียนขึ้นใหม่ในแบบฉบับเดิม

บทเรียนครั้วนี้เราทุกท่านขออย่ามองข้าม เพราะต่อไปอาจมีแบบนี้เกิดขึ้นอีกที่ไหนก็ได้ขอท่านทั้งหลายมองเป็นบทเรียน “การปล่อยให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไรเลยเท่ากับการสนับสนุนสิ่งนั้น” จะเสียดายก็แต่ว่างานโบราณนั้นไม่ได้ถูกการรักษาเนื้องานชั้นครูและเรื่องราวผ่านกาลเวลาเอาไว้ ประตูบานนี้คงอยู่ในมโนสำนึกสืบไป

ต่อมาผู้ใช้เฟซบุ๊ก Momosang Kung ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ม.เชียงใหม่ ได้มาคอมเมนต์ว่า “ประตูลายรดน้ำที่วัดหมื่นล้านอายุตามจารึกก็ร้อยกว่าปี ถือว่าเก่าแก่มาก แม้ว่าสภาพจะซีดจางตามกาลเวลา แต่ลวดลายก็ยังชัดเจนอยู่มาก เนื้อไม้ก็ยังดีอยู่ ปัญหา คือ สภาพก่อนโดนลบมันยับเยินเสียหายหนักจนกระทั่งถึงกับต้องเขียนใหม่เลยหรือ”

ซูมจากภาพที่แชร์กัน (และก็เคยขี่รถผ่านไปดูอยู่บ้าง) รอยชำรุดเหล่านั้น น่าจะสามารถเช็ดทำความสะอาดได้อยู่ ฝากสาธารณชนช่วยตรวจสอบกระบวนการการทำงานบูรณะ “ก่อนที่จะลบทิ้ง” ว่าดำเนินการกันอย่างไร เหมาะสมไหม…เพราะที่จริง ไม่จำเป็นต้องลบทิ้งเขียนใหม่ ของเก่าอายุร้อยกว่าปี ถึงเขียนเส้นใหม่ ก็อปปี้อย่างไรลายเส้นลายมือก็จะไม่เหมือนเดิมแน่นอน ได้เพียงเค้าโครงเท่านั้น ถ้าอยากได้ของที่ใหม่ปิ๊ง ก็ควรถอดบานเดิมเก็บแล้วเขียนใหม่ อย่างกรณีบานประตูวิหารวัดดวงดีครับ…


ลายเส้นพู่กันร้อยกว่าปี มีสภาพตามที่เห็น …แจ่มชัดขนาดนี้…ลองถามแต่ละท่านดูว่ามันถึงขนาดต้องลบทิ้งจริงๆ เหรอ …การอนุรักษ์สิ่งสำคัญคือความเป็นเนื้อแท้”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน