เป็นกระแสในโลกโซเชี่ยลเมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่ไม่พอใจต่อข้อความในใบรับรองแพทย์ ระบุว่า “การกรรโชกใบรับรองแพทย์กรณีหยุดงานไม่เกิน 3 วันผิดกฎหมายแรงงาน เลว และเห็นแก่ตัว ทำให้เกิดปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลลิดรอนสิทธิคนไข้ คนไข้มีสิทธิหยุด 3 วันโดยไม่มีใบรับรองแพทย์” จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์

ล่าสุดนายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ส่วนสิทธิการรับค่าจ้างขณะลาป่วยนั้นกำหนดให้ 1 ปีมีสิทธิได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน และกฎหมายยังกำหนดว่าหากลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ หากลูกจ้างไม่อาจแสดงได้ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ ส่วนบางบริษัทกำหนดเงื่อนไขใช้สิทธิลาป่วย เช่น ลางาน 1 หรือ 2 วันต้องใช้ใบรับรองแพทย์มาประกอบนั้น เรื่องนี้ไม่สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธไม่ต้องแสดงใบรับรองแพทย์

ด้านพญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา กล่าวว่าการเขียนใบรับรองแพทย์ต้องยึดถือตามหลักวิชาการ ซึ่งตามหลักแล้วการออกใบรับรองแพทย์จะเขียนเฉพาะอาการเจ็บป่วยและความเห็นเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของคนไข้เท่านั้น ไม่ควรเขียนเกี่ยวกับเรื่องอื่นลงไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวคงยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า การเขียนใบรับรองแพทย์เช่นนี้มีความผิดหรือไม่ ต้องดูองค์ประกอบและบริบทในการเขียนใบรับรองแพทย์ขณะนั้น รวมถึงจุดประสงค์ในการเขียนของแพทย์ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน