สำรวจนิสิตจุฬาฯ ทั้ง 20 คณะ พบว่าร้อยละ 91.5 เห็นด้วย ให้มีการ “ยกเลิกบังคับ” ใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบ พร้อมส่งเรื่องถึงอธิการบดี

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2563 เฟซบุ๊ก สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทำการเผยแพร่ผลสำรวจและรายงานความคืบหน้าว่า องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มีมติเห็นชอบให้ผ่านเรื่องการ “ยกเลิกบังคับ” ใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบ พร้อมส่งเรื่องต่อถึงอธิการบดี โดยมีข้อความดังนี้

เสนอ อบจ. เรียนอธิการบดีให้ยกเลิกบังคับใส่ชุดนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบ วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล (แฟรงค์) พร้อมด้วยผู้ติดตาม อุปนายกฝ่ายกิจการมหาวิทยาลัย กฤตภาส เชษฐเจริญรัตน์ (กาเรต) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยสามัญครั้งที่ 7/2563 โดยในครั้งนี้ได้เสนอวาระในที่ประชุม พร้อมรายละเอียดดังต่อไปนี้

อุปนายกฝ่ายกิจการมหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอว่า ทุกวันนี้หลายท่านอาจตั้งคำถามกับการมีอยู่ของหลายสิ่งหลายอย่างในปัจจุบัน เชื่อว่าทุกท่านในที่นี้อาจพบปัญหาหรือสงสัยว่าทำไมเรายังต้องใส่ชุดนิสิตมาเรียนหรือมาสอบด้วย กฎระเบียบที่ยังคงบังคับใช้พวกเรามาตลอดตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ในวัยระดับอุดมศึกษา กำหนดแม้กระทั่งสิ่งที่เราต้องใส่หรือห้ามใส่ไปสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้สามารถเห็นได้จากนิสิตที่เรียกร้องและเคลื่อนไหวสนับสนุนให้ยกเลิกชุดนิสิตจำนวนมาก อย่างสมเหตุสมผลและเป็นที่ประจักษ์ด้วยเช่นกัน

จึงอาจอนุมานได้ว่า ยังมีนิสิตอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใส่ชุดนิสิตของกฎระเบียบมหาวิทยาลัย แต่ยังไม่มีโอกาสได้แสดงออกมาในมุมของข้าพเจ้าแล้ว เพื่อให้เกิดความแน่ใจกับความคิดดังกล่าว และเพื่อหาเหตุผลที่สนับสนุนการยกเลิกบังคับชุดนิสิต จึงได้ทำแบบสำรวจในรูปแบบออนไลน์สอบถามนิสิตจุฬาฯ ทั้งมหาวิทยาลัย ระดับชั้นปริญญาตรี ทั้งหมด 20 คณะ/สำนักวิชา/สถาบัน โดยได้ตั้งคำถามว่า “คุณเห็นด้วยให้ยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบหรือไม่” พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นเหตุผล หรือประสบการณ์ต่างๆ จากเครื่องแบบ

จากการสำรวจนิสิตจุฬาฯ ทั้ง 20 คณะ/สำนักวิชา/สถาบัน พบว่าร้อยละ 91.5 เห็นด้วย ให้มีการ “ยกเลิกบังคับ” ใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบ และมีเพียงร้อยละ 8.5 ไม่เห็นด้วย และเห็นว่า “สมควรมีการบังคับ” ใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบต่อไป จากแบบสำรวจเปิดให้นิสิตสามารถแสดงความคิดเห็นได้ พบว่านิสิตจำนวนมากได้ร้องเรียนผ่านแบบสำรวจว่าตนเดือดร้อน เผชิญความลำบาก พบเจอความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางเพศ และรับภาระเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ตลอดจนเรียนได้ไม่คล่องแคล่วในบางสาขาวิชา รวมถึงการถูกละเมิดสิทธิจากการบังคับใส่เครื่องแบบอยู่หลายรูปแบบ

จากที่กล่าวมา รวมถึงความคิดเห็นของนิสิตจำนวนหนึ่งที่นำเสนอไปแล้วนั้น สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ กังวลถึงสภาพดังกล่าวอย่างยิ่ง จึงขอเรียนเสนอในที่ประชุมฯ พิจารณามีมติให้ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการออกหนังสือหรือจดหมายเปิดผนึกเรียนอธิการบดี ให้พิจารณาออกประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การแต่งกายของนิสิต ฉบับใหม่ เพื่อยกเลิกความในข้อ ๖ (๒) (ก) และข้อ ๖ (๓) (ก) ในประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การแต่งกายของนิสิต พ.ศ. ๒๕๖๒ และเพิ่มข้อความว่า “นิสิตระดับปริญญาตรี ให้แต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบปกติหรือชุดสุภาพตามอัธยาศัย” แทน

ทั้งนี้ การเสนอในครั้งนี้ ไม่ได้มีความประสงค์ให้ยกเลิกหรือล้มล้างการมีอยู่ของเครื่องแบบแต่อย่างใด หากเป็นเพียงการเสนอเพื่อให้นิสิตได้มีเสรีภาพในการเลือกสรรและกำหนดการแต่งกายในชีวิตมหาวิทยาลัยมากขึ้น (เยี่ยงอย่างหลายมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีลำดับมหาวิทยาลัยสูงกว่าจุฬาฯ ของเรา หากเทียบตามมาตรฐาน QS World University Rankings ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านั้นไม่ได้กำหนดบังคับไว้แล้วในปัจจุบัน) ในการนี้ เพียงขอให้ “ยกเลิกการบังคับใส่” เครื่องแบบนิสิตเท่านั้น

จึงเรียนมาเพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารฯ พิจารณามีมติให้ออกหนังสือหรือจดหมายไปยังอธิการบดี ในประเด็นและความดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ที่ประชุมพิจารณาและมีมติดังต่อไปนี้
1. อบจ. ช่วยประชาสัมพันธ์แบบสำรวจเพิ่มเติม กรณียกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบ โดยใช้แบบสำรวจเดิมของสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ในการดำเนินการต่อไป
(อนุมัติ 20 เสียง ไม่อนุมัติ 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากผู้มีสิทธิออกเสียง 21 เสียง)
2. ให้ อบจ. ออกหนังสือเรียนอธิการบดี พร้อมข้อมูลจากแบบสำรวจฯ ให้มีการแก้ไขประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยเครื่องแบบนิสิต พ.ศ. 2562
(อนุมัติ 20 เสียง ไม่อนุมัติ 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากผู้มีสิทธิออกเสียง 21 เสียง)
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนอข้างต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน