ในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประจำวันตลอด 100 วันนั้น ในแต่ละวันนอกจากมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม 8 ครั้งแล้ว ยังกำหนดให้มีการประโคมย่ำยาม อีก 6 ครั้ง คือ

06.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และประโคมย่ำยาม
07.00 น. พระพิธีธรรมรับพระราชทานฉันเช้า
09.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และประโคมย่ำยาม
11.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมฉันเพล
12.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และประโคมย่ำยาม
12.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และประโคมย่ำยาม
18.00 น. ประโคมย่ำยาม
19.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม
และ 21.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และประโคมย่ำยาม

s__4268118

โดย นายกัญจนปกรณ์ แสดงหาญ คีตศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้โพสต์เฟสบุ๊ค ‘กัญจนปกรณ์ แสดงหาญ’ เขียนถึงที่มา และรายละเอียดของการประโคมย่ำยาม ไว้ว่า “กลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร มีความภาคภูมิใจ กับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของแผ่นดินในช่วงเวลานี้ ประโคมย่ำยามในการพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระพ่อหลวงขอปวงชนชาวไทย ตามโบราณราชประเพณี อันเป็นหน้าที่หลักโดยตรงของดุริยางคศิลปิน คีตศิลปิน กลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

 

การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธี ถือว่าเป็นเครื่องประกอบพระราชอิศริยยศขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธีที่บรรเลงตามขั้นตอนของงานพระราชพิธี ควบคู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง

14628265_1417600651587891_912939432_n
ตามโบราณราชประเพณีการประโคมย่ำยาม ในการพิธีพระบรมศพหรือพระศพ มีจุดประสงค์เพื่อถวายพระเกียรติยศ และเป็นสัญญาณให้ทราบกำหนดเวลาปฏิบัติหน้าที่ แต่เดิมการประโคมดนตรีที่ใช้ประโคมย่ำยาม มีเฉพาะวงสังข์แตรปี่ไฉนและกลองชนะเท่านั้น เจ้าพนักงานจะอยู่ประโคม โดยมีเวลาหรือยามที่ต้องเข้าประโคม ตามพระราชอิศริยศ ดังนี้

 

ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๑ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา
ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๒ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา
ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๓ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา
ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๔ เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา
ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๕ เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา
ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๖ เวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา
ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๗ เวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา
ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๘ เวลา ๐๓.๐๐ นาฬิกา

14686623_1417600668254556_1062918386_n

เป็น 8 ยามต่อวัน หรือสามชั่วโมงประโคมทีหนึ่ง โบราณเรียก ประโคมตลอดทั้งคืนทั้งวัน แต่ในการพระราชพิธีพระบรมศพในครั้งนี้โปรดฯ ให้งดไว้สองเวลา คือเที่ยงคืน และตีสาม ดังนั้นจึงมีหน่วยงานเข้าร่วมประโคม 2 หน่วยงาน คือ
1 วงสังข์ แตร ปี่ไฉน และกลองชนะ ของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง
ชาวพนักงานประโคม มีจำนวนในริ้วประโคม
ตามนี้

14686411_1417600678254555_2122999427_n

1. เจ้าพนักงานตีมโหระทึก 2 นาย
2. จ่าปี่ 2 นาย
3. จ่าเปิง 1 นาย
4. แตรฝรั่ง 10 นาย
5. แตรงอน 10 นาย
6. สังข์ 4 นาย
7.กลองชนะแดงลายทอง 40 นาย
ทั้งหมดแต่งกายตามโบราณราชประเพณี (ชุดสีแดง)การแต่งกายนี้เป็นการแต่งกายตามโบราณ ไม่ว่างานมงคล งานอวมงคล ก็แต่งอย่างเดียวกัน โดยถือว่าเป็นเกียรติยศ

14699929_1417600658254557_1314253207_n

-จ่าปี่ จ่าเปิง มโหระทึก แต่งชุดเข้มขาบไหม สวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศ ยอดเกี้ยว คาดเข็มขัดแถบทองหัวครุฑ
-เจ้าพนักงานเป่าแตร เป่าสังข์ แต่งชุดปัสตูแดงแขนบาน หมวกปัสตูแดงพู่ขาว
-เจ้าพนักงานตีกลองชนะ แต่งชุดปัสตูแดง หมวกกลีบลำดวน

 

2. วงปี่พาทย์นางหงส์ ของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีตฯ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้
1. ปี่ชวา 1 เลา
2. ระนาดเอก 1 ราง
3. ระนาดเอกเหล็ก 1 ราง
4. ระนาดทุ้ม 1 ราง
5. ระนาดทุ้มเหล็ก 1 ราง
6. ฆ้องวงใหญ่ 1 วง
7. ฆ้องวงเล็ก 1 วง
8. กลองทัด 2 ใบ
9. ฉิ่ง 1 คู่
การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนการประโคมดังนี้
– เริ่มต้นด้วย เจ้าพนักงานประโคมมโหรทึก สังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ด้วยเพลง “สำหรับบท” ประโคมจบ ปี่ไฉน เปิงและกลองชนะ ประโคมด้วยเพลง “พญาโศกลอยลม” จบแล้ว สังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ประโคมรับด้วยเพลง “สำหรับบท” อีกรอบหนึ่ง จบแล้ว ปี่ไฉน เปิง และกลองชนะ ประโคมด้วยเพลง “พญาโศกลอยลม” อีกครั้งหนึ่ง จบแล้ว สังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ประโคมด้วยเพลง “สำหรับบท”
14694648_1417600671587889_1589896947_n

เมื่อจบการประโคมของ มโหรทึก สังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ปี่ไฉน และกลองชนะแล้ว วงประโคมลำดับที่ 2 คือ วงปี่พาทย์นางหงส์ ประโคมเพลงเรื่องนางหงส์ เป็นลำดับสุดท้าย เมื่อประโคมจบถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นการประโคมย่ำยาม 1 ครั้ง

 

แต่เดิม โบราณมิได้ใช้ “วงปี่พาทย์” ร่วมประโคมย่ำยาม ในงานพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ จะมีเฉพาะ “วงสังข์ แตร ปี่ไฉน และกลองชนะ” ของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง ประโคมในงานพระบรมศพ และพระศพ เท่านั้น

14796070_1417997954881494_1948206467_o

ในปี พ.ศ. 2539 เมื่อครั้งงานพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระประสงค์ให้กรมศิลปากรนำวงปี่พาทย์นางหงส์ เข้าร่วมประโคมย่ำยาม ต่อจากวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง นับเป็นครั้งแรกที่วงปี่พาทย์นางหงส์ได้มาประโคมย่ำยามถวายในงานพระราชพิธีพระบรมศพ และพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ของสถาบันพระมหากษัตริย์ สืบเนื่องมา

 

สาเหตุที่เรียกว่าปี่พาทย์นางหงส์ นั้น เรียกตามหน้าทับที่ใช้ตีประกอบเพลงชุดนี้ คือหน้าทับนางหงส์ จึงเรียกชื่อวงและเรียกชื่อเพลงเรื่องนี้ว่า “วงปี่พาทย์นางหงส์และเพลงเรื่องนางหงส์”

เพลงเรื่องนางหงส์ ประกอบด้วยชื่อเพลงที่เรียงลำดับการบรรเลงดังนี้
1. เพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน
2. เพลงสาวสอดแหวน
3. เพลงแสนสุดสวาท หรือเพลงกระบอกทอง
4. เพลงแมลงปอทอง หรือเพลงคู่แมลงวันทอง
5. เพลงแมลงวันทอง
14697123_1417598748254748_1079118207_o

การเรียงร้อยเพลงชุดนี้ โบราณจารย์ท่านเรียบเรียงไว้ใช้กับงานอวมงคล โดยจัดระเบียบแบบแผนและขั้นตอนการบรรเลงไว้ให้เหมาะสมกับช่วงระยะเวลาของพิธีกรรม
อนึ่งในการเข้าประโคมย่ำยามเป็นเวลา 100 วัน ตามพระราชอิศริยยศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อครบ 100 วันหยุดประโคม แล้วรอหมายกำหนดการออกพระเมรุต่อไป (ขอขอบคุณข้อมูลรายละเอียดจากน้องแม็ค ฐาปณัฐ ธรรมเที่ยงด้วยนะครับ) เพราะเขาเหล่านี้ คือผู้ปิดทองหลังพระ…โดยแท้”

ขอบคุณภาพ ฐาปณัฐ ธรรมเที่ยง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน