ร้านอาหารได้เฮ! ลูกค้าอัดอั้น คืนแรกแห่นั่งดื่มสุดคึก-แน่นร้าน หลังศบค.คลายล็อก โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีคาราโอเกะ หรือเป็นร้านนั่งได้เรื่อยๆ

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 24 ก.พ. นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) ปลดล็อกให้สามารถนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านอาหารได้จนถึงเวลา 23.00 น. สมาคมฯได้พูดคุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารที่เป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา เริ่มเห็นลูกค้าเข้ามาใช้บริการคึกคักมากขึ้น อาจด้วยเป็นวันแรกของการผ่อนปรน จึงเกิดแรงอัดอั้นที่ไม่ได้นั่งดื่มในร้านเหมือนปกติ ทำให้ลูกค้ามาใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีคาราโอเกะ หรือเป็นร้านนั่งได้เรื่อยๆ จะเห็นว่าลูกค้าเข้าใช้บริการเต็มร้าน

ขณะนี้ได้ย้ำกับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเต็มที่ อาทิ วัดอุณหภูมิก่อนเข้าใช้บริการ ล้างเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่างสังคม รวมถึงดูแลสภาพอากาศภายในร้านให้ถ่ายเทได้สะดวกด้วย ซึ่งทีมคุณหมอได้บอกว่า ความจริงแล้วห่วงเรื่องอากาศที่อาจไม่ถ่ายเทมากพอ และเป็นแหล่งสะสมเชื้อได้มากกว่าการเว้นระยะห่าง

หากประเมินยอดขายร้านอาหารในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา น่าจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 20 % เดือนก.พ. กลับมาฟื้นตัวมากขึ้น 10% หลังจากกลับมาให้เปิดนั่งที่ร้านได้ถึง 5 ทุ่ม ซึ่งคาดหวังว่าในเดือนมี.ค.นี้ และต่อไปยอดขายน่าจะทยอยกลับมาดีขึ้นได้ อย่างน้อย 60% ขึ้นไปก็ถือเป็นตัวเลขที่ดีมาก หากเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19

“เดือนก.พ.นี้ ยอดขายกลับมาเติบโตดีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากมีวันหยุดหลายวัน ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเดินทางไปต่างจังหวัดได้สะดวกตามปกติ ทำให้ต้องออกมาใช้บริการร้านอาหาร เพราะวันตรุษจีนถือเป็นวันพิเศษที่ต้องฉลองกับครอบครัว การนั่งทานอาหารร่วมกันที่บ้านก็อาจไม่ได้แตกต่างจากวันธรรมดาทั่วไป ซึ่งความจริงแล้วปีนี้ถือว่าเป็นปีที่พิเศษมาก เพราะวันตรุษจีนของทุกปี ร้านอาหารจะไม่ได้ขายดีมากนัก เนื่องจากคนจะนิยมเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อรวมญาติและฉลองร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่มากกว่า “

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า หากประเมินร้านอาหารที่มีราคาแพง อาทิ อาหารญี่ปุ่น เกาหลี เนื้อย่างต่างๆ ซึ่งลูกค้าจะเป็นกลุ่มคนระดับสูง หรือกลุ่มคนที่มีฐานะ ที่ผ่านมายอดขายยังขายได้ตามปกติ หรืออาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะกลุ่มลูกค้ามีศักยภาพในการใช้จ่าย จึงเห็นว่าที่ผ่านมา ร้านอาหารในระดับสูงไม่มีการส่งเสียงออกมาเรียกร้องอะไร แตกต่างจากกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็ก โดยเฉพาะร้านอาหารริมทางหรือริมถนน ที่ยอดขายหายไปตามลูกค้าที่หายไป

และกำลังซื้อที่ลดน้อยลง การออกมาเรียกร้องข้อเสนอต่างๆ ถึงรัฐบาล ก็เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กเหล่านี้ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ในที่สุดก็ต้องปิดกิจการไป สะท้อนได้จากที่ผ่านมา ขนาดร้านอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาระดับหนึ่ง มีลูกน้องประมาณ 10-20 คน ยอดขายเดือนละหลายแสน ยังเจอวิกฤตโควิด-19 ทำให้ยอดขายหายไป จนต้องออกมาลดต้นทุน ผ่านการสลับวันทำงานของลูกจ้าง หรือลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับลูกจ้าง และเกี่ยวเนื่องไปถึงครอบครัว รวมถึงห่วงโซ่การใช้จ่ายด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน