เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ระบุว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รณรงค์โดยล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องการปฏิรูประบบประกันตัว ให้ใช้วิธีการอื่นที่ไม่ใช่การยื่นเงินประกันตัว เพราะจะทำให้คนจนต้องติดคุกตั้งแต่ศาลยังไม่พิพากษา โดยรายชื่อดังกล่าวจะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมต่อไป

โดยเฟซบุ๊กระบุว่า #ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจนทราบไหมครับว่าในบรรดาผู้ต้องขัง 300,000 คน มีอย่างน้อย 66,000 คน ที่ต้องติดคุก ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่พิพากษา เหตุเพราะว่าไม่มีเงินประกันตัว!

คดีที่มีโทษประหารชีวิต วงเงินประกันคือ 800,000 บาท จำคุกตลอดชีวิตคือ 600,000 บาท โทษจำคุกปีละ 20,000 บาท ถ้าข้อกล่าวหานั้นมีโทษสูงสุด 20 ปี ก็ต้องมีเงิน 400,000 บาท
คำถามคือ เงินประกันเป็นหลักประกันได้จริงหรือว่าจำเลยจะไม่หนี? คำตอบคือไม่ใช่ ถ้ามีเงินประกันตัวได้ ก็หนีได้ ผลคือคนจะติดคุกหรือไม่อยู่ที่มีเงินหรือไม่ ทั้งๆ ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติไว้เลยว่าต้องใช้เงิน!

ในบรรดาความเหลื่อมล้ำทั้งหลายในสังคมไทย ไม่มีเรื่องใดจะเลวร้ายไปกว่าเรื่องการประกันตัวที่ต้องใช้เงินอีกแล้วครับ ร่วมกันปฏิรูประบบประกันตัว ให้ใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่เงิน หนึ่งเสียงของท่านสามารถแก้ไขความไม่เป็นธรรมนี้ได้ ร่วมลงชื่อใน change.org ให้ได้ 66,000 ชื่อ เท่ากับจำนวนคนที่ติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัวตามลิงค์ข้างล่างนี้ครับ

จากนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมต่อไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ครับ 1 เสียงของท่าน ช่วยคนจนที่ติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว 1 คนครับ! www.change.org/p/เปลี่ยนระบบเงินประกัน-ต้-องไม่มีใครติดคุกเพราะจน-อีกต่-อไป

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน