ธนาคารโลก เผยช่วง 5 ปี คนไทยประสบปัญหาภาวะยากจน รายได้ไม่พอกิน ซ้ำเงินช่วยเหลือจากรัฐยังน้อย เมื่อเทียบกับภูมิภาคเดียวกัน ชี้วัยทำงานหดตัวแรงสวนทางผู้สูงอายุที่พุ่งขึ้น

วันที่ 29 มิ.ย.64 นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวในการเปิดตัวรายงาน “ภาวะประชากรสูงวัยและตลาดแรงงานในประเทศไทย” ว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาประเทศ และประชากรสูงวัยในประเทศไทยในขณะนี้มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว และตลาดแรงงานในสังคมไทยด้วย

ประกอบกับปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีกันอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและชีวิตของผู้คน เปลี่ยนแปลงการทำงานและวิถีการใช้ชีวิตของคน และ สังคม จะสามารถปรับเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้อย่างไร

การระบาดของโควิด-19 นอกจากเป็นภัยคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีกลไกคุ้มครองคนในสังคม และต้องช่วยให้ตลาดแรงงานและประชากรสูงวัยสามารถรับมือได้แล้ว โควิดยังเป็นตัวที่เร่งและให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

โดยเฉพาะประเภทของงานที่เกิดขึ้นอาจจะล้าสมัยไปแล้ว และบางงานก็เป็นงานประเภทใหม่ที่เกิดขึ้นใหม่ในโลกยกตัวอย่างเช่นในประเทศไทย งานหลายอย่างก็มีการแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าแรงงานจำเป็นจะต้องมีทักษะมากขึ้นและจำเป็นจะต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ต้องพิจารณาเพราะงานที่เกิดใหม่ในตลาดตอนนี้มีงานหลายสิ่งที่มีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดีในส่วนของประเทศไทยซึ่งกำลังเผชิญกับแนวโน้มภาวะประชากรสูงวัยในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ประชากรในวัยทำงานมีอัตราที่หดตัวลง

จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 7 และเป็นร้อยละ 14 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในสหรัฐอเมริกา ที่ใช้เวลาถึง 69 ปี

นอกจากนั้นในส่วนของรายได้ประชากรต่อหัว(จีดีพี) ของเอเชียตะวันออก ซึ่งมากกว่าสองเท่าของจีดีพีต่อหัวของไทย ปัจจัยสำคัญมาจากประชากรในวัยทำงานของไทยมีการหดตัวลงถือเป็นอันดับ 3 ตามหลัง ประเทศเกาหลีใต้และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และควรจะต้องมีการจัดการ เพราะภาวะของประชากรสูงวัยจะมีผลอย่างมาก รวมถึงจะต้องมีการปฏิรูปทางด้านสังคมด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบด้วยว่า ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานในประเทศไทยยังค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังเผชิญกับคนในวัยทำงานก็มีอัตราที่หดตัวลง ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่จะต้องมีการพัฒนาทักษะแรงงาน

ส่วนมุมมองด้านเศรษฐกิจและสังคม จะพบว่าประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบมากกว่า 50% สะท้อนได้ว่าประชากรส่วนใหญ่รวมถึงประชากรสูงวัย ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม และยิ่งในสถานการณ์โควิด จะพบว่าคนไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้รับความคุ้มครองทางสังคม ซึ่งหมายรวมถึงความคุ้มครองทางด้านการดูแลสุขภาพด้วย

ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราความยากจนค่อยๆ ดีขึ้น แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากลับพบว่าประเทศไทยประสบปัญหาภาวะความยากจน และงานที่มีอยู่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้อยู่ได้อย่างพอเพียง ในขณะเดียวกันประชากรผู้สูงวัยที่เติบโตขึ้นส่วนใหญ่ก็มีความยากจน ดังนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการที่จะช่วยดูแลปัญหาดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ในรายงานยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือทางสังคม พบว่าประเทศไทยมีการให้เงินสนับสนุนการให้การช่วยเหลือจากรัฐบาลค่อนข้างน้อย และถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าประเทศอื่นที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน

ซึ่งข้อมูลในปี 2564 พบว่าในประเทศอินโดนีเซีย หรือในประเทศอื่นๆ มีการใช้จ่ายด้านความช่วยเหลือทางด้านสังคมประมาณร้อยละ 2.1 ของจีดีพี ซึ่งในประเทศไทยก็ถือว่าค่อนข้างต่ำ

ไม่เพียงเท่านี้ ในส่วนของโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปทางด้านแรงงานก็มีความจำเป็น ซึ่งในส่วนของการเชื่อมโยงของภาวะตลาดแรงงานกับความคุ้มครองทางสังคม แม้ว่าจะมีผลกระทบจากโควิด 19 ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องจัดการ แต่ในประเทศไทยกลับเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันในทางการเมือง ในด้านมาตรการที่จะสนับสนุนให้มีความเข้มแข็งในสถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน