ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานไว้เมื่อ 45 ปีล่วงมา

หลักปฏิบัตินี้หาใช่แค่กรอบดำรงชีวิตสำหรับพสกนิกรชาวไทยที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของพระองค์เท่านั้น แต่คุณค่าของปรัชญาสายกลางนี้ได้รับการยกย่องในระดับโลก

สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสห ประชาชาติ (UNDP) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP-Human Development Lifetime Achievement Award) จากที่ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย ทรงพระวิริยอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยต่อเนื่อง

pol01231059p1

นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติขณะนั้น กล่าวในโอกาสเดินทางมาถวายรางวัลเมื่อ วันที่ 26 พ.ค. 2549 ว่า “หากการพัฒนาคน หมายถึงการให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นลำดับแรก ก็ไม่มีสิ่งอื่นใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการพัฒนาคน ภายใต้แนวทางการพัฒนาคนของพระองค์ที่ทรงอุทิศพระวรกายและทรงงานโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ ศาสนา

ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ด้วยพระปรีชาสามารถในการเป็นนักคิดของพระองค์ทำให้นานาประเทศตื่นตัวปรับรูปแบบการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การเดินสายกลาง เป็นการจุดประกายแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่สู่นานาประเทศ”

ในขะที่นักคิด นักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคนเห็นด้วยที่จะใช้แนวคิดนี้กู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก อาทิ ศ.ดร.วูล์ฟกัง ซักส์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมของเยอรมนี ศ.ดร. อมาตยา เซน ศาสตราจารย์ชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐ ศาสตร์ ปี 1998 และ จิกมี ทินเลย์ นายกรัฐมนตรีแห่งภูฏาน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานหลักปฏิบัตินี้ไว้ตั้งแต่ปี 2514 แต่สาธารณะรับรู้กันในปี 2517 เมื่อทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนม พรรษาถึงการพออยู่พอกิน

“…คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าหลัง ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่อย่างพอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำพอสมควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้…”

pol01231059p2

ต่อมาหลักคิดนี้เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ท่ามกลางความพยายามและความหวังว่าไทยยังมีโอกาสผงาดเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2540

“…การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป

แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก…”

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นหลักยึดนำทางให้คนไทยเดินสายกลาง ก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลง มองทุกอย่างด้วยความเป็นจริง ไม่ฟุ้งเฟ้อ คล้อยตามกระแสทุนนิยมในปัจจุบันที่ปลูกฝังและกระตุ้นให้ผู้คนใช้จ่ายเกินตัว เลือกบริโภคไม่ได้คำนึงปัจจัยการดำรงชีวิต แต่ทำตามความอยากมีอยากได้

หลักปฏิบัติแบบเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอดี มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันที่ดี ตามที่ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการพระราชวัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เคยอธิบายไว้ว่า ความพอดีนั้นคือไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ

และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผล กระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว

แต่ปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความรู้และคุณธรรม เป็นเงื่อนไขพื้นฐาน กล่าวคือเงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการประกอบการงาน ส่วนเงื่อนไขคุณธรรม คือ การยึดถือคุณธรรมต่างๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมและการแบ่งปัน

pol01231059p3

ส่วนการนำแนวพระราชดำรินี้ไปสู่การปฏิบัติ อันดับแรกต้องประหยัด รู้จักตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดฟุ่มเฟือย ประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์ การแข่งขันต่อสู้อย่างรุนแรงทางการค้า ใฝ่หาความรู้เพื่อเสริมรายได้ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ความพอเพียง ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา

แต่ก็ไม่ได้หมายความถึงการกระเบียดกระเสียรจนเกินสมควร อาจฟุ่มเฟือยได้เป็นครั้งคราวตามอัตภาพ แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศมักใช้จ่ายเกินฐานะที่หามาได้ ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2544 ที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล

“…ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ 200-300 บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียงคือทำเป็น Self-Sufficiency มัน ไม่ใช่ความหมาย ไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวีก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไปเขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้นมีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่และยังใส่เนกไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป…”

เมื่อพูดถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียง มักมีการหยิบยกพระราชดำริเรื่องทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นตัวอย่างการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่คือการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำการเกษตรเพื่อการมีชีวิตอย่างยั่งยืน มีการผลิตที่พึ่งตนเองได้ด้วยวิธีง่ายๆ ใช้ชีวิตอย่างประหยัด ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลัง ให้พอมีพอกินไม่อดอยาก

หากหลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ภาคการเกษตรหรือภาคชนบท เพราะสามารถประยุกต์ใช้ได้กับการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงระดับรัฐทุกสาขา หรือแม้แต่ทุกภาคของเศรษฐกิจ ภาคการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และยังเป็นทฤษฎีที่ใช้กันได้ทั่วโลก

เฉกเช่นที่องค์การยูเนสโกยกย่องและน้อมนำไปปฏิบัติ โดย นางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก มีหนังสือแสดงความไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เชิดชูว่า “พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงความสำคัญต่อศตวรรษที่ 21 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติ สิ่งที่ไม่สามารถลบเลือนจากจิตใจได้คือ การอุทิศกำลังพระวรกายและทรงพระวิริยอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อส่งเสริมหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความเสมอภาคและนำประเทศชาติสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยและสอดคล้องกับอุดมการณ์และภารกิจสำคัญของยูเนสโก รวมถึงวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็น ปี 2030 ซึ่งประชาคมโลกมี พันธกิจร่วมกันในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว”

ที่มา : มูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิยุวสถิรคุณ, หนังสือ 55 ปี มหามงคลราชาภิเษกสมรส 2548, kasetporpeang.com, region1.prd.go.th

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน