กรมอุทยานฯ เผยลักษณะ ช้างไทย ที่ถูกต้อง หลังครูสอนออนไลน์ เข้าใจผิด นำช้างแอฟริกา มาสอนเด็ก แนะวิธีสังเกต ตัวผู้และตัวเมีย

กรณี นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา โพสต์เฟชบุ๊ก แสดงความเป็นห่วงเรื่องการศึกษา ธรรมชาติวิทยาของเด็กไทย ที่คุณครูยังไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆอย่างแท้จริง เช่นการนำรูปช้างแอฟริกามาให้นักเรียนชั้นอนุบาล 1 ดู แล้วบอกเด็กว่า นี่คือ สัตว์ประจำชาติไทย

ล่าสุด ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ข้อความให้ความรู้เรื่องช้างไทย ระบุว่า ช้างไทย กับการจำแนกลักษณะ

ช้างไทยที่เราพบเห็นหรือเรียกว่าช้างไทยนั้น จริงๆแล้วคือ ช้างเอเชีย สายพันธุ์อินเดีย (Elephas maximus indicus)

ซึ่งช้างอินเดีย ยังพบในอีกหลายๆประเทศด้วยกัน ( อินเดีย บังกลาเทศ ภูฐาน เนปาล เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน มาเลเซีย และไทย )

ในประเทศไทยนั้นเรียกสายพันธุ์นี้ ว่า “ช้างไทย” และได้มีการจำแนกลักษณะช้าง ตัวผู้และตัวเมียออก

โดยหลักๆจะดูจากงา และเพศ ซึ่งสามารถจำแนกได้ตามนี้ ช้างสีดอ คือ ช้างเพศผู้ ที่ไม่มีงา /ช้างพลาย คือ ช้างเพศผู้ ที่มีงา /ช้างพัง คือ ช้างเพศเมีย

นอกจากงาและเพศแล้วยังสามารถสังเกตได้จากจุดอื่นๆได้อีก เช่น ส่วนหัว ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมีย และมีฐานงวงนูนโป่งกว่าตัวเมีย

ส่วนหลังและบั้นท้าย เมื่อสังเกตจากด้านข้าง ช่วงบั้นท้ายของตัวผู้จะค่อยๆโค้งลาดลง ในขณะที่ของตัวเมียจะหักตรงลงมา

ถุงหุ้มอวัยวะเพศ โดยถุงหุ้มอวัยวะเพศของตัวผู้จะเรียวแหลมลงมา และวางตัวขนานกับท้อง บางครั้งจะเห็นอวัยวะเพศออกมาจากช่องท้องด้วย , ต่างจากตัวเมียถุงหุ้มอวัยวะเพศจะยาวลู่ลงมาในแนวดิ่งที่บริเวณขาหลัง

เต้านม ช้างตัวเมียจะมีเต้านมระหว่างขาคู่หน้า เต้านม จะเต่งนูนขึ้นจนสังเกตเห็นได้ชัด

การตกมัน หลังจากช่วงที่ช้างได้กินอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ช้างตัวผู้ มักจะมีอาการตกมัน โดยจะมีของเหลวข้นกลิ่นแรง ไหลออกมาจากต่อมบริเวณขมับ (Temporal gland) ย้อยลงมาบริเวณแก้มเห็นเป็นแถบสีดำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน