วันที่ 8 ธันวาคม 2506 หรือวันนี้เมื่อ 54 ปีที่แล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 11 ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการป่วยหลายโรครุมเร้า

สิริอายุ 55 ปี

ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง นอกจากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จอมพลสฤษดิ์ยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมตำรวจ

จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจจากจอมพลป. พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรี เมื่อคืนวันที่ 16 กันยายน 2500 แต่แต่งตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนส่งผ่านตำแหน่งต่อให้จอมพลถนอม กิตติขจร รับช่วงนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ

กระทั่งวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 จอมพลสฤษดิ์จึงเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ

ประกาศใช้ “มาตรา 17” ให้อำนาจสิทธิขาดแก่จอมพลสฤษดิ์เหนือกว่ากฎหมายใดๆทั้งหมด

จอมพลสฤษดิ์ใช้ความเด็ดขาดบริหารประเทศ ใช้ “มาตรา 17” ประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเป็นจำนวนมาก

โดยมีวาทะประจำตัว “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยเกิดกรณีพิพาทกับประเทศเขมร เพื่อนบ้าน กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งมีการเรี่ยไรเงินบริจาคจากประชาชนชาวไทยคนละ 1 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลโลก เมื่อศาลโลกมีคำพิพากษาออกมา จอมพลสฤษดิ์ออกแถลงการณ์ต่อประชาชนชาวไทยด้วยตนเอง ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ด้วยน้ำตา

วันที่ 8 ธันวาคม 2506 จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ภายหลังเสียชีวิต จอมพลสฤษดิ์ถูกเปิดโปงเรื่องมี “อนุภรรยา” จำนวนมากมาย ใช้บ้านพักหลังกองพลที่ 1 เป็น “วิมานสีชมพู” จนได้รับฉายา “จอมพลผ้าขาวม้าแดง”

และเพียงหนึ่งเดือนหลังอสัญกรรม ทายาทเปิดศึกแก่งแย่งทรัพย์สินมรดกมหาศาล โดยบุตรทั้ง 7 ของจอมพลสฤษดิ์ที่เกิดจากอดีตภรรยา ได้ฟ้องร้องท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยาของจอมพลสฤษดิ์ โดยอ้างว่ามีเงินจำนวนถึง 2,874,009,794 บาท รวมกับอสังหาริมทรัพย์อีกมากมายไม่สามารถประมาณค่าได้

จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจอมพลสฤษดิ์

จากรายงานของคณะกรรมการ ปรากฏว่าจอมพลสฤษดิ์ได้ใช้เงินแผ่นดินเพื่อเลี้ยงดูนางบำเรอและลงทุนในธุรกิจ เงินผลประโยชน์สำคัญๆ 3 แหล่งคือ เงินงบประมาณ 394 ล้านบาทที่เป็นเงินสืบราชการลับของสำนักนายกรัฐมนตรี เงิน 240 ล้านบาทจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล และประมาณ 100 ล้านบาทจากเปอร์เซ็นต์การขายสลากกินแบ่ง

ปลายปี 2507 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ใช้ “มาตรา 17” สั่งยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ และท่านผู้หญิงวิจิตรา

วันนี้ จอมพลสฤษดิ์ ผู้นำจากการทำปฏิวัติรัฐประหาร ล่วงลาลับครบ 54 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน