นักวิชาการ ชี้ บทบาท ก.ดิจิทัลฯ ควรแก้ปัญหาลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ออกหน้าเชียร์ แนะ ออกระเบียนสำนักนายกฯ คุมข้าราชการปฏิบัติตามอนุสัญญาไม่ยุ่งเกี่ยวบริษัทบุหรี่ ชี้ อันตรายจากบุหรี่ ก่อโรคหัวใจ โรคหอบหืด รวมถึงโรคปอด และโรคมะเร็ง ยังเหมือนเดิมไม่ว่าเป็นบุหรี่อะไร

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิดัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ว่า ควรพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ไอคอสถูกกฎหมาย จะช่วยลดการขาดทุนของโรงงานยาสูบ เป็นการช่วยเกษตรผู้ปลูกใบยาสูบ จะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น

อ้างว่าบุหรี่ไอคอสมีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่มวนว่า กฎหมายไทยห้ามการนำเข้า ห้ามขายและให้บริการบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (e-cigarette) โดยถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ได้รับการยืนยันในทางการแพทย์แล้วว่า ทำลายสุขภาพของผู้สูบเป็นอย่างมาก กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มเยาวชน กลุ่มคนทำงานบางส่วน จนกลายเป็นสารเสพติดตัวใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มนักสูบหน้าใหม่มากขึ้น แต่ก็ยังพบการโฆษณา การขายบุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อนสื่อออนไลน์และตลาดนัดทั่วไป

นพ.หทัย กล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์ประเภท heat-not-burn products เช่น บุหรี่ไอคอส เป็นสิ่งที่น่ากังวลเช่นกัน เพราะยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้ว่า บุหรี่ประเภทนี้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังพบว่าบุหรี่ประเภทนี้มีทั้งสารนิโคตินจากใบยาสูบและสารเคมีที่เป็นอันตรายสูงกว่าบุหรี่ทั่วไปด้วย โดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิดัล ควรฟังข้อมูลความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการด้านสุขภาพ และควรทำหน้าที่ช่วยแก้ไขปัญหาการโฆษณา การขายบุหรี่ไฟฟ้าทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์กับกรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเยาวชนและประชาชน จะเหมาะสมกว่าการเสนอความเห็นในเรื่องที่ตนเองมิได้มีหน้าที่รับผิดชอบ

“บริษัทบุหรี่ข้ามชาติพยายามที่จะแทรกแซงกฎหมายและนโยบายควบคุมยาสูบของไทยมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ผ่านนักการเมือง ข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอ รัฐบาลจึงควรเสนอให้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อป้องกันในเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยยังมิได้ปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC) มาตรา 5.3 อย่างครบถ้วน” นพ.หทัย กล่าว

ด้าน ดร.สแตนตัน แกลนซ์ (Stanton Glanz, PhD) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและศึกษาด้านการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กล่าวในการประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 (13th Asia Pacific Conference on Tobacco or Health: APACT 2021 Bangkok) ว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีการพัฒนาไปมาก บางยี่ห้อเป็น liquid e-Cigarette เป็นการนำ “นิโคติน” เข้าสู่ร่างกายผ่านการทำให้เป็นไอแทนการเผาไหม้ มีการพัฒนาสูตรโดยใช้เกลือนิโคติน ซึ่งต่างจากบุหรี่ไฟฟ้าทั่วไปที่ใช้ Freebase Nicotine หรือ นิโคตินบริสุทธิ์ ทำให้มีค่าความเป็นกรดน้อย ผู้สูบสามารถหายใจได้ง่ายขึ้น ไม่แสบคอ นี่คืออีกเหตุผลว่า ทำไมผู้ใช้ใหม่อย่างเด็กๆ ถึงติดบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น รวมถึงยังถูกปรุงแต่งให้มีรสชาติและกลิ่นหลากหลาย ยิ่งทำให้ผู้ใช้จะได้รับสารนิโคตินที่เข้มข้นมาก

“การสูบบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภทมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคหอบหืด รวมถึงโรคปอด และโรคมะเร็ง ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าอาจมีอันตรายกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม เพราะมีอานุภาคขนาดเล็กมากที่สามารถ ข้าสู่กระแสเลือดและเข้าสู่เซลล์ ซึ่งอันตรายมาก ทั้งมีโอกาสที่จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาจำกัดการจำหน่าย หรือเป็นไปได้ที่อาจมีการยกเลิกการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย” ดร.แกลนซ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน