ถกสนั่น! องค์การนิสิตจุฬาฯ ออกแถลงการณ์ ยกเลิกอัญเชิญพระเกี้ยว ก่อนเสียงแตก “ยุติความไม่เท่าเทียม” หรือ “ทำลายวัฒนธรรม”

ดราม่าระอุโซเชียล หลังทางองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้ออกแถลงการณ์คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม ไปเมื่อวานนี้ (23 ต.ค. 64)

กลายเป็นที่ถกเถียงบนโลกออนไลน์ เมื่อมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้อ้างว่า การยกเลิกอัญเชิญพระเกี้ยวถือเป็นการทำลายวัฒนธรรมประเพณีที่มีมานาน

บางส่วนก็อ้างว่า “พระเกี้ยว” สัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของชาวจุฬาฯ หากยกเลิกไปเท่ากับไม่มีสิ่งใดสื่อถึงความเป็นจุฬาฯ ดังนั้นควรยกเลิกกิจกรรมทุกอย่างไปหมดดีหรือไม่

ล่าสุดทาง “วินทร์ เลียววาริณ” อดีตนิสิตจุฬาและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้แสดงความเห็นถึงประเด็นดังกล่าว โดยมีเนื้อความคร่าว ๆ ว่า “หากเข้าใจประวัติศาสตร์ที่มา จะรู้ว่าพระเกี้ยวไม่ใช่และไม่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เสมอภาค แต่เป็นสัญลักษณ์ของความรู้ ความกตัญญู อย่าลืมเป็นอันขาดว่าปราศจากเจ้าของตราพระเกี้ยวนี้ ก็ไม่มีเรา คุณค่าของมนุษย์เราอยู่ที่ความกตัญญูกตเวทิตา มีคุณให้ทดแทน และหากไม่ทดแทน อย่างน้อยก็ไม่เนรคุณ” (อ่านฉบับเต็ม คลิก)

อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ยกเลิกอัญเชิญพระเกี้ยว โดยมองว่าถือเป็นการปรับเปลี่ยนความคิดไปตามยุคสมัย จากข้อความในแถลงการณ์เป็นการยกเลิกการแบกพระเกี้ยว ไม่ใช่การยกเลิกพระเกี้ยว จึงไม่น่าจะเป็นการทำลายวัฒนธรรมอย่างที่กล่าวหา

อีกทั้งขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวมีการคัดเลือกตัวแทนขึ้นไปนั่งบนเสลี่ยงและให้คนหลายคนแบกหาม ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่แบกเสลี่ยงบางคนก็ไม่ได้มาด้วยความเต็มใจแต่เป็นการบังคับมาเพื่อแลกกับคะแนน ดังนั้นการยกเลิกจึงถือเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดนี้ด้วย

ที่สำคัญ ไม่ควรมาแย้งถึงประเด็นยกเลิกหรือไม่ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ควรหันไปสนใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะเป็นการดีกว่าหรือไม่

ขอบคุณที่มา Twitter

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน