ดีเอสไอแถลงจับ 2 หัวโจกคนไทย แก๊งแชร์ลูกโซ่ข้ามชาติ อ้างเป็นบริษัทจากสหรัฐ มาเปิดที่ไทย หลอกให้คนร่วมลงทุน อ้างนำไปลงทุนต่อทั้งในและต่างประเทศ ได้ผลตอบแทนร้อยละ 20 จนมีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก เสียหายกว่า 1.7 พันล้านบาท เผยพฤติกรรมสุดแสบ ร่วมกับชาวต่างชาติอีก 8 คน เปิดเว็บไซต์ ดูน่าเชื่อถือ เปิดงานในสถานที่โก้หรู มีบริษัทต่างชาติการันตี ลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 15 ธ.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.อ. ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีดีเอสไอ และพ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผอ.กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ร.ต.อ.ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผอ.ส่วนคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ 1 ร่วมแถลงผลจับกุมขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ หลังบริษัท อีเกิ้ล เกตส์ กรุ๊ป จำกัด กับพวก หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มูลค่าความเสียหาย 1,700 ล้านบาท โดยสามารถจับกุม 2 หัวโจกชาวไทย ประกอบด้วย นายรัฐเขต ฉายารัตน และนางกนกกุล พรอภิโชติ

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อเดือนธ.ค. 2559 มีผู้เสียหายหลายรายเดินทางมายื่นหนังสือถึงดีเอสไอ เพื่อให้ตรวจสอบบริษัทอีเกิ้ลฯ ซึ่งมีพฤติกรรมหลอกลวงให้ ผู้เสียหายนำเงินไปลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยอ้างว่าหากร่วมลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทนที่สูงถึงร้อยละ 3 และร้อยละ 20 ต่อเดือนตามแพ็กเกจที่ลงทุน และสามารถถอนผลตอบแทนและเงินต้นได้ตลอดเวลา ซึ่งมีประชาชนเสียหายกว่า 1,000 ราย

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์กล่าวต่อว่า บริษัทดังกล่าวสร้างความน่าเชื่อถือต่างๆ เช่น การทำเว็บไซต์ ที่แสดงว่าเป็นบริษัทชั้นนำของโลกมาจากสหรัฐอเมริกา และเปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 10 ปี มีผู้เชี่ยวชาญที่จะนำเงินของผู้เสียหายไปบริหารจัดการ เพื่อให้ได้แต่ผลกำไรเท่านั้นโดยไม่มีการขาดทุน อีกทั้งยังมีการแอบอ้างสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งเป็นผู้รับประกันสภาพคล่องทางการเงิน จัดบรรยายชักชวนตามโรงแรมหรูทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสืบสวน ของดีเอสไอพบว่าบริษัทดังกล่าวมีพฤติการณ์เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับบุคคลชาวไทยและต่างชาติ รวม 10 ราย ประกอบด้วย ชาวต่างชาติ 8 ราย และชาวไทย 2 ราย คือ นายรัฐเขต ฉายารัตน และนางกนกกุล พรอภิโชติ ซึ่งเป็นตัวการใหญ่ ในความผิดฐาน “ร่วมกันกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน” ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญา กรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 พ.ร.ก.การกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบมาตรา 83 และศาลอาญายังได้ออกหมายค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

รองอธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่า โดยเมื่อ วันที่ 12 และ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ สนธิกำลังกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ติดตามจับกุมนายรัฐเขตและนางกนกกุล พร้อมเข้าตรวจค้นสถานที่ทั้งสิ้น 8 แห่ง เช่น คอนโดฯ ลุมพินี เมกะซิตี้ บางนา 1 ห้อง, คอนโดฯ ศุภาลัย ศรีนครินทร์ 3 ห้อง, คอนโดฯ ศุภาลัย มาเรย์ พัทยา 1 ห้อง และบ้านพักใน จ.แพร่ 2 หลัง ผลการตรวจค้นพบเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว พร้อมสามารถตรวจยึดทรัพย์สินมีค่าได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผล

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวเข้ามาในไทยปี 2559 แต่ไม่ได้จดทะเบียนประกอบกิจการในประเทศ ไทย โดยพฤติกรรมเป็นกลุ่มต่างชาติที่หลอกให้คนซื้อหุ้นในลักษณะแชร์ลูกโซ่ เป็นการหาแม่ข่ายและลูกข่ายต่อยอดกันไป โดยระบุเป็นการนำเงินมาลงทุนไปซื้อขายดัชนีหุ้นต่างประเทศเพื่อทำกำไร อ้างว่าเงินลงทุนยังคงอยู่ ไม่หายไป และผลตอบแทนกลับคืนจะได้มากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งยังสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการจัดทำเว็บไซต์แสดงว่าเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก

“จากการตรวจสอบยังพบว่าขบวนการ ดังกล่าวจะให้ผู้เสียหายโอนเงินไปยังบัญชีของ กลุ่มโพยก๊วน ซึ่งเป็นขบวนการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและอยู่นอกประเทศ ขณะเดียวกันจะนำเงินไปฟอกเพื่อหลบหนีการยึดทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ โดยดีเอสไอกำลังเร่งติดตามจับกุมบุคคลตามหมายจับที่เหลือและเร่งขยายผลไปยังเครือข่ายต่อไป” พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน