นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์เตรียมประกาศราคาประเมินราคาที่ดินปี 2561 ซึ่งเป็นการประเมินราคารอบใหม่รายแปลง 32 ล้านแปลง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2561 นี้ โดยในส่วนของราคาประเมินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สูงสุดอยู่ที่ย่านสีลม ตารางวาละ 1 ล้านบาท และต่ำสุดอยู่ที่บางขุนเทียน บริเวณคลองโล่งชายทะเล ตารางวาละ 500 บาท ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด สูงสุดอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตารางวาละ 4 แสนบาท และ ต่ำสุดอยู่ที่จังหวัดลพบุรี อำเภอโคกเจริญ ตารางวาละ 20 บาท

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กรมได้ทยอยประเมินราคาที่ดินรายแปลงได้ 18.6 ล้านแปลง แต่ในปี 2560 ได้ประเมินราคาส่วนที่เหลืออีก 13.4 ล้านแปลง จนครบ 32 ล้านแปลง และให้ยกเลิกการใช้ราคาประเมินเป็นแบบรายบล็อก ซึ่งการประเมินแบบรายแปลง ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการแจ้งอาจจะมีการประกาศราคาประเมินมากกว่าหรือน้อยกว่า 32 ล้านแปลงก็ได้

นอกจากนี้ กรมฯยังได้มีการทบทวนแนวทางการเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุ หลังจากวิเคราะห์แล้วพบว่า วิธีที่กรมฯเรียกเก็บโดยคำนวณตามอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (อาร์โอเอ)ที่ 3% ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติโดยมีราคาค่าเช่าที่ขึ้นลงไม่เท่ากัน มีประชาชนบางส่วนได้รับผลกระทบ และที่สำคัญไม่ได้ทำให้กรมฯมีรายได้เพิ่มไม่นัก หรือเพิ่มเพียงแค่หลัก 10 ล้านบาทต่อปีซึ่งไม่คุ้มค่า ดังนั้น กรมฯจึงกำหนดให้ผู้เช่าที่ราชพัสดุที่มีสัญญาเดิม จะเสียค่าเช่าตามแบบเดิมไปก่อนคือ ปรับราคาขึ้นทุก 5 ปีที่ 15% ส่วนผู้เช่าที่จะเข้ามาทำสัญญาใหม่จึงใช้วิธีคิดแบบใหม่ตามอาร์โอเอที่ 3%

น.ส.อมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงแนวทางในการพัฒนาที่ราชพัสดุในปี 2561 ว่า ในปีหน้ากรมฯ มีแผนผลักดันให้เกิดโครงการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมในหลายโครงการบนพื้นที่ราชพัสดุ มูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต วงเงินลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 30 ปี เพื่อพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์กลางคมนาคม และคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

ขณะที่การพัฒนาที่ดินบริเวณศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มูลค่าการลงทุน 6 พันล้านบาท ระยะเวลา 50 ปีนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างสัญญาเพื่อนำเสนออัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป ส่วนการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณโรงภาษีร้อยชักสาม มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างสัญญา โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสแรกของปี 2561

นอกจากนี้ ในส่วนของความคืบหน้าแผนการลงทุนหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 4.6 พันล้านบาทนั้น เบื้องต้นได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาการลงทุน เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐและเอกชน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่างสัญญาเพื่อนำเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป ส่วนความคืบหน้าการต่อสัญญาการเช่าที่ราชพัสดุของ บมจ.ไทยออยส์ ซึ่งจะหมดอายุสัญญาการเช่าในปี 2565 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 35

ขณะที่ความคืบหน้าแผนการก่อสร้างศูนย์ราชการโซน C วงเงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาทนั้น ยังอยู่ระหว่างการนำเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา หลังจากนั้นต้องเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา และเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อ โดยยอมรับว่า ปัจจุบันมีส่วนราชการที่แสดงความจำนงขอเช่าพื้นที่เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ในเดือน ม.ค. 2561 กรมฯ ยังเตรียมเปิดให้เอกชนร่วมประมูลเพื่อพัฒนาที่ราชพัสดุเขตเศรษฐกิจพิเศษ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดตาก และจังหวัดนครพนม ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียงพอรองรับการลงทุน โดยคาดว่าภายหลังจากประกาศผู้ชนะการประมูลแล้ว เอกชนจะเดินหน้าการลงทุนได้อย่างเร็วที่สุดไม่เกินครึ่งปีแรกของปี 2561 หรืออย่างช้าภายในไตรมาส 3 ของปีหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน