แพทย์เผย ผลตรวจอุจจาระพบโนโรไวรัส สาเหตุท้องเสียเป็นกลุ่มที่จันทบุรี ชี้แพร่ทางอากาศ ทนความร้อน-แอลกอฮอล์

วันที่ 31 ธ.ค. 2564 ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก Opass Putcharoen ระบุถึงผลการตรวจอุจจาระของผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียระบาดใหญ่ที่จันทบุรี

“ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก ตรวจอุจจาระของคนที่มีอาการท้องเสียระบาดใหญ่ที่จันทบุรี ผลเป็น Norovirus Genogroup II จำนวน 6 ราย จาก 8 ราย อาการ คลื่นไส้อาเจียนจะเด่น ท้องเสียจะเกิดขึ้นเร็ว รุนแรงในบางราย หายเองภายในประมาณสองวัน ผู้สูงอายุอาจจะมีอาการมากและรุนแรง”

“โรคนี้ติดติดง่าย จำนวนเชื้อน้อยๆก็ทำให้เกิดอาการท้องเสียที่รุนแรงได้ ติดทางการกิน สัมผัส เชื้ออาจจะอยู่ตามสิ่งแวดล้อม แนะนำล้างมือด้วยสบู่ เชื้อฟุ้งกระจายในอากาศได้ แอลกอฮอล์ไม่สามารถทำลายเชื้อได้นะครับ ใครกลับบ้านช่วงปีใหม่แถวนั้น ก็ระวังเรื่องอาหารการกิน ล้างมือด้วยน้ำสบู่ (ดีกับทั้งโรคท้องเสียกับโควิด) “

ทางทีมข่าวสดจะไขข้อสงสัยอาการพร้อมแนะนำวิธีการรักษาเบื้องต้นของโนโรไวรัส เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกท่านมีสุขภาพและห่างไกลจากการติดเชื้อโนไรไวรัส ตามบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนเรื่อง ท้องเสียจากโนโรไวรัส ของอาจารย์ ดร.ภก.สุเมธ จงรุจิโรจน์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โนโรไวรัส (Norovirus) จัดอยู่ใน Family Caliciviridae เป็นไวรัสที่มีสายพันธุกรรมแบบ RNA สายเดี่ยว โดยเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคท้องเสียในทางเดินอาหาร ซึ่งพบการระบาดได้ทั่วไป รวมถึงสามารถแพร่ระบาดได้ง่าย รวดเร็ว ทนทานต่อน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ และทนทานต่อสภาวะแวดล้อม โดยทนความร้อนได้ถึง 60 องศาเซลเซียส คาดว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยประมาณ 250 ล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 2 แสนคนต่อปี โดยการเสียชีวิตมักจะพบในเด็กเล็ก คนสูงอายุ หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

โนโรไวรัสพบครั้งแรกในการระบาดของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบที่เมืองนอร์วอล์ก รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1972 เดิมรู้จักกันในชื่อ Norwalk like viruses ต่อมาผลการวิจัยในสหราชอาณาจักรพบการระบาดโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว เรียกว่า Winter Vomiting Bug หรือ Winter vomiting disease

โนโรไวรัสสามารถติดต่อได้หลายทาง เช่น การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น หอย ผักผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด รวมถึงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง การสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้ออยู่แล้ว ซึ่งผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้เป็นพันล้านตัวผ่านทางอุจจาระและการอาเจียน

อาการและการรักษา โนโรไวรัสก่อให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้, อาเจียน, ท้องเสีย, ปวดท้อง, อาจมีไข้ต่ำ ๆ , ปวดหัว, ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย มักจะมีอาการภายใน 12 – 48 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อ

ลักษณะอาการเด่น คือ ท้องเสียและอาเจียน โดยปกติผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2 – 3 วัน แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุอาจก่อให้เกิดการขาดน้ำได้ ดังนั้น ควรดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่ หรืออาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการกำจัดเชื้อไวรัสนี้ อีกทั้งยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส

วิธีการป้องกัน

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ โดยล้างให้นานพอ (ไม่น้อยกว่า 20 วินาที) ก่อนรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก
  • ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด
  • ทำความสะอาดส่วนที่คนสัมผัสบ่อย ๆ
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน หรือใช้หลักการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

ขอบคุณที่มาจาก ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล CDC

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน