ศธ. ประชุม ผอ.เขตพื้นที่ฯ เตรียมพร้อมเปิดภาคเรียน ยันชัด ไม่เลื่อนเปิดเทอม เปิดตามกำหนดปฏิทินเดิม 17 พ.ค.นี้ สั่งแก้ปัญหาร.ร.เล็กขาดแคลนครู

วันที่ 5 เม.ย.65 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ขณะนี้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการรับนักเรียนเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจะมีเด็กพลาดโอกาสไม่สามารถสอบเข้าเรียนในโรงเรียนแข่งขันสูงได้

ดังนั้นขอให้เขตพื้นที่ฯ โดยเฉพาะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ประกาศโรงเรียนที่มีนักเรียนยังไม่เต็มแผนการรับนักเรียน เพื่อให้ผู้ปกครองพานักเรียนที่พลาดโอกาส มายื่นความจำนงหาที่เรียนที่ดีที่สุดให้นักเรียนต่อไป ทั้งนี้ยืนยันว่านักเรียนทุกคนต้องมีที่เรียน

นายอัมพร กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 นั้น โดยตนเน้นย้ำกับเขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนทุกแห่งไปว่า จะไม่มีการเลื่อนเปิดภาคเรียน จะเปิดภาคเรียนตามกำหนดปฏิทินเดิม คือวันที่ 17 พฤษภาคม โดยขอให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไซต์เป็นหลัก ทั้งนี้ขอให้โรงเรียนเตรียมการเรียนการสอนรูปแบบอื่นๆ เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตหรือสถานการณ์จำเป็นต่างๆด้วย

อย่างไรก็ตามการจัดการเรียนในรูปแบบออนไซต์ โรงเรียนต้องดำเนินการตามมาตรการ 6-6-7 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พร้อมกับเตรียมอาคารสถาน เตรียมครูและอุปการณ์การเรียนการสอน ให้พร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนทั้งในรูปแบบออนไซต์ และรูปแบบอื่นๆ

นายอัมพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในแต่ละโรงเรียนจะมีความพร้อมที่แตกต่างกัน เช่น ความพร้อมด้านสถานที่ ความพร้อมด้านบุคลากร เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเขตพื้นที่ฯ พบเจอปัญหาต้องรีบแก้ปัญหา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ที่หลายแห่งมีข้าราชการเกษียณอายุ แต่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ไม่คืนอัตราเกษียณให้ ทำให้โรงเรียนเหล่านี้ขาดแคลนครู

ตนจึงสั่งการให้ เขตพื้นที่ฯ สำรวจอัตราครูในโรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไป หากพบว่าโรงเรียนไหนมีอัตราครูพอดีเกณฑ์หรือเกินเกณฑ์ที่กำหนด และมีพนักงานราชการหรือลูกจ้างที่เป็นครูผู้สอนอยู่ในโรงเรียนดังกล่าวแล้ว ให้เขตพื้นที่ฯ เกลี่ยพนักงานราชการหรือลูกจ้างในโรงเรียนดังกล่าว ไปยังโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน เพื่อชดเชยและแก้ปัญหาขาดแคลนครู

ทั้งนี้ขอให้เขตพื้นที่ฯ ประกาศด้วยว่ามีโรงเรียนใดบ้างมีครูต่ำกว่าเกณฑ์ เพื่อให้ครูในพื้นที่พิจารณาขอย้าย หากมีครูต้องการย้ายไปสอนโรงเรียนที่มีครูต่ำกว่าเกณฑ์ ให้เขตพื้นที่นำเสนอให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาเกลี่ยอัตราได้ตลอดเวลา พร้อมกับทำแผนพัฒนาโรงเรียนคุณภาพเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป

“นอกจากนี้ ผมเน้นย้ำให้เขตพื้นที่ฯ ดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียน ของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าจะต้องติดตามเด็กให้ครบทุกคนภายในเดือนเมษายนนี้ และในวันที่ 30 เมษายนนี้นักเรียนทุกคนต้องได้ที่เรียน พร้อมกับส่งต่อนักเรียนไปยังสังกัดอื่นๆ โดยดูความต้องการของนักเรียนว่าต้องการเรียนที่ไหน

เช่น กลับมาเรียนโรงเรียนเดิม หรือส่งต่อไปเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นต้น โดยภายในวันที่ 1-15 พฤษาคมนี้ จะส่งต่อนักเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ประสานไว้ เพื่อให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ” นายอัมพร กล่าว

นายอัมพร กล่าวต่อว่า โครงการพาน้องกลับเข้าเรียน ไม่ได้มีเป้าหมายแค่นักเรียนระดับภาคบังคับเท่านั้น แต่มีเป้าหมายครอบคลุมตั้งแต่ผู้เรียนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วย โดยจะทำอย่างไรให้เด็กได้เรียนจบอย่างมีคุณภาพ พึ่งพาตนเองได้

ซึ่งโครงการนี้ ต้องการทำให้เห็นว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือเดียวที่จะเปลี่ยนความยากจน และความด้อยโอกาส ให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านกลไกทางการศึกษา และนอกจากจะตามตัวเด็กเข้าระบบการศึกษาแล้ว เขตพื้นที่ฯ ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน