เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รักษาการประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการขายสินค้าแพงของร้านในท่าอากาศยานว่า ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องของอาหารและน้ำดื่มแพงในท่าอากาศยาน ตั้งแต่ปี 2559 และลงพื้นที่เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2559 โดยคาดหวังว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากนัก และได้พบสัญญาที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือ ทอท.ได้ทำกับร้านค้า โดยที่ท่าอากาศยานดอนเมือง สัญญาระบุว่ายอมให้ขายแพงกว่าราคาในห้างสรรพสินค้า 10-20 เปอร์เซ็นต์ และที่สุวรรณภูมิยอมให้ขายแพงกว่าราคาในห้างสรรรพสินค้าไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลปรากฏว่าทั้ง 2 แห่งมีการขายเกินราคา สูงกว่าที่กำหนด 40-50 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น จึงมีข้อโต้แย้งจาก ทอท. และนำไปสู่การตั้งคณะทำงานที่มีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่สอบสวนของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อกำหนดราคามาตรฐานในการอ้างอิง โดยให้ยกราคาของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นสยามพารากอน และเซ็นทรัล แต่ ทอท.กลับโต้แย้งโดยขอให้เพิ่มห้าม เอ็มควอเทียร์ และเซ็นทรัลแอมแบสซี่ ซึ่งในความเป็นจริงสัญญาที่ ทอท.ได้ทำไว้กับผู้ประกอบการ คือ เมื่อปี 2548 ยังไม่มีการก่อตั้งห้างทั้งสอง ข้ออ้างดังกล่าวของ ทอท.จึงไม่สมเหตุสมผล ทอท.จึงต้องยอมจำนน

“เรื่องน้ำดื่มก็เช่นกัน พอเรากวดขันให้วางจำหน่ายในราคา 10 บาท เพราะน้ำดื่มเป็นสินค้าควบคุมราคา ไม่ว่าจะขายที่ใดในประเทศไทยก็ต้องขายตามราคากำหนด ปรากฏว่าผู้ประกอบการภายใต้สัญญาที่ควบคุมโดย ทอท. นำน้ำดื่มออกแล้วนำน้ำแร่เข้ามาแทน เนื่องจากน้ำแร่ไม่สามารถควบคุมราคาได้ ปัญหาดังกล่าวในฐานะผู้ตรวจการแผ่นดินมองว่าภาระเหล่านี้เกินจำเป็นต่อประชาชน และสร้างความเดือดร้อน ซึ่งทอท.ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องนี้”พล.อ.วิทวัสกล่าว

พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ทอท.ได้ชี้แจงล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว โดยแจ้งว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากจะต้องแก้ไขตัวสัญญา ซึ่งเป็นจังหวะที่กฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดิน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2560 จะทำให้คำวินิจฉัยมีสภาพบังคับหากหน่วยงานที่ไม่แก้ไขตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะ ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถส่งเรื่องไปยังองค์อิสระอื่นให้ดำเนินการต่อได้ เราจึงยังไม่มีวินิจฉัยก่อนหน้านี้ แต่เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงตั้งใจว่าจะลงพื้นที่อีกครั้งในต้นเดือนก.พ.นี้ โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนก่อนถึงช่วงเดือนเม.ย. ซึ่งประชาชนจะใช้เป็นเส้นทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดสงกรานต์

“ทอท.ไม่ต้องไปแก้ไขสัญญา เพราะในสัญญากำหนดไว้ชัดเจนว่า ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง สามารถขายอาหารได้สูงกว่าราคาในห้าง 10-20 เปอร์เซ็นต์ สุวรรณภูมิ 20-25 เปอร์เซ็นต์ ทอท.จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญา เรื่องนี้ผมถือว่า ทอท.ไม่ทำตามกฎหมาย หากพบเอกชนรายใดไม่ทำตามสัญญา ทอท.ควรจะรู้ว่าต้องทำอะไรต่อไป ในฐานะที่ ทอท.เป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐ”พล.อ.วิทวัส กล่าว
พล.อ.วิทวัส กล่าวอีกว่าในการลงพื้นที่ในต้นเดือน ก.พ.นี้ จะเชิญกระทรวงพาณิชย์ และ สคบ. ไปร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งเรื่องนี้ตนทราบว่านายกรัฐมนตรีก็รับทราบปัญหาแล้ว และให้ความสนใจ เนื่องจากท่าอากาศยานเป็นหน้าตาของประเทศ ซึ่งเราพึงรักษามาตรฐานของการทำงานและธรรมาภิบาล ซึ่งในการลงพื้นที่หวังว่า ทอท.จะให้ความร่วมมือ ไปตรวจดูว่าสิ่งที่ตัวเองดำเนินการนั้นเป็นไปตามกฎหมายแล้วหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าผู้ประกอบการจะแอบขึ้นราคาเองได้หรือไม่ พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า เป็นเรื่องของ ทอท.ที่ต้องควบคุม อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ผู้ตรวจการแผ่นดินพยายามเชิญผู้บริหารของ ทอท.ที่มีอำนาจในการตัดสินใจมาร่วมหารือ แต่มักถูกบ่ายเบี่ยง ซึ่งในกฎหมายใหม่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 25 (1) ระบุว่าผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถเชิญเจ้าหน้าที่รัฐ มาให้ถ้อยคำได้ คราวนี้ก็จะเชิญผู้มีอำนาจของ ทอท.ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ หวังว่าคงจะได้รับความร่วมมือ
เมื่อถามถึงการที่รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา แนะให้ประชาชนที่เดินทางไปใช้สนามบิน ไม่ต้องกินอาหารที่สนามบิน แต่ให้ไปกินที่ปลายทางนั้น พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า วิธีการดังกล่าวไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหา แต่เป็นการเลี่ยงปัญหา ซึ่งตนมองว่าหากราคา 25 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่ายอดขายที่ดีขึ้น อย่าไปปกป้องผู้ประกอบการอยากให้ทอท.คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน มากกว่าประโยชน์ของผู้ประกอบการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน