นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 ก.พ.2561 สภาเกษตรกรแห่งชาติมอบให้สภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร ลงพื้นที่พูดคุยและคัดเลือกเกษตรกรที่มีคุณภาพร่วมทำโครงการปลูกกัญชา ในพื้นที่นำร่อง 5,000 ไร่ ที่จังหวัดสกลนคร เขตพื้นที่ทหาร การสำรวจพื้นที่เพาะปลูกเกิดภายหลังนำคณะเข้าพบนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และผู้บริหารระดับสูงเข้าหารือกับกระทรวงสาธารณสุข พบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 4 หรือประเภท 5 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2560

โดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข สามารถอนุญาตให้มีการเพาะปลูกพืชกัญชาเพื่อสกัดเป็นยารักษาโรคในพื้นที่ที่รัฐมนตรีกำหนด โดยมีความเห็นร่วมกันว่าพื้นที่กำหนดพื้นที่แรกคือ จ.สกลนคร เพราะเป็นต้นน้ำแม่น้ำสงคราม เทือกเขาภูพานเป็นแหล่งกำเนิดพันธุ์พืชกัญชาที่ดีที่สุดในอดีตและในประวัติศาสตร์ได้มีการพูดถึงหลายครั้ง แม้แต่ตอนนี้ในป่าเขาก็ยังมีต้นกัญชาที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ ถึงแม้จะมีกฎหมายหวงห้ามแต่ธรรมชาติก็ยังดำรงอยู่ จึงจะใช้พื้นที่ จ.สกลนคร นำร่องส่งเสริมการปลูกพืชกัญชา โดยประกาศให้อยู่ในเขตทหารก่อน ซึ่งจะทำให้ควบคุมได้ง่าย พร้อมทั้งต้องตั้งกรรมการควบคุมให้ใกล้ชิดเพื่อป้องกันการหลุดรอดของสิ่งที่ไม่พึงประสงค์

“เกษตรกรที่จะเข้าร่วมทำโครงการ ต้องมีหลักปฏิบัติที่ดี มีจริยธรรมสูง เพราะเป็นพืชควบคุมและมูลค่าสูง เกษตรกรต้องไม่นำไปใช้ผิดประเภท ด้วยจะสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติและจะมีผลกระทบต่อโครงการ การพยายามทำให้พืชกัญชาและกระท่อมเพื่อให้แพทย์สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ สภาเกษตรกรฯ ได้ขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาพ.ร.บ.ยาเสพติดมาหลายครั้งแล้วเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา”

นายประพัฒน์ กล่าวว่า วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ สภาเกษตรกรฯ ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ป.ป.ส. อย. จัดเวทีวิชาการเรื่อง “กัญชาเป็นยารักษาโรค” ณ โรงแรมรามาการ์เดนท์ โดยมีนักวิชาการ , แพทย์ , นักกฎหมาย และผู้เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ จากนั้นภายในเดือนมีนาคม สภาเกษตรกรฯจะจัดเวทีวิชาการเรื่อง “พันธุกรรมของกัญชา” เนื่องจากกัญชาเป็นพืชเมืองร้อน พันธุกรรมและสรรพคุณทางยาที่ดีจะอยู่ในเขตเมืองร้อนทั้งนั้น ซีกโลกตะวันตกไม่มี เพราะสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศเหมาะสมกับการขึ้นตามธรรมชาติของต้นกัญชา พร้อมทั้งการสร้างตัวยานั้น มีคุณค่าและปริมาณสูง

ขณะนี้ได้ส่งออกตัวยาแล้ว ซึ่งสาร THC หรือสารตัวยาจะต่ำ ความเข้มข้นน้อย บ้านเรามีความเข้มข้นมากกว่าเยอะ หลายประเทศอยู่ระหว่างที่จะทำ ประเทศไทยอาจช้าแต่มีโอกาสมากกว่าและศักยภาพสูงกว่า ต้นทุนถูกกว่า ไม่ต้องปลูกในมุ้ง , โรงเรือน ต่างประเทศต้องทำโรงเรือน ต้นทุนจึงสูงมาก ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่สำหรับการสร้างเศรษฐกิจ เป็นหลักการเรื่องฐานเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งทางนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีได้พยายามทำเรื่องนี้มานาน นี่คือรูปธรรมหนึ่งของการทำให้ประเทศนี้ไปสู่ความหลากหลายของเศรษฐกิจ ด้วยฐานชีวภาพที่หลากหลายของตัวเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน