ถกสนั่น! เกิดอุบัติเหตุเครื่องบิน ควรอพยพคนใน 90 วินาทีอย่างเร่งด่วน หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจนักบิน

หลังจากเป็นข่าวระทึกไปทั้งโซเชียลกับเหตุการณ์เครื่องบิน​เที่ยวบิน DD108 ไถลออกรันเวย์ เหตุฝนตกหนัก ขณะที่นักบินกำลังนำเครื่องบินลงจอดที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และนักบินสามารถจอดเครื่องได้อย่างปลอดภัย และนำผู้โดยสาร 163 ท่านพร้อมลูกเรือ 6 ท่านลงจากเครื่องเข้าไปยังอาคารผู้โดยสาร โดยไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวหลายคนมีการออกมาโพสต์ถึงความล่าช้าในการนำผู้โดยสารออกจากเครื่องบิน โดยต้องรออยู่บนเป็นเครื่องบินดังกล่าวนานนับชั่วโมงจนหายใจไม่ออกกว่าจะถูกนำออกจากเครื่อง แถมยังไม่ยอมให้ออกไปรอด้านนอก เจ้าหน้าที่ย้ำว่าเป็นกฎของการท่าห้ามไปยืนบนรันเวย์และกังวลว่าผู้โดยสารจะได้รับอันตรายจากฝนตกหนัก

ล่าสุด เพจ I’m from Andromeda ออกมาโพสต์ความรู้เกี่ยวกับการอพยพในฐานะที่เป็นนักบินมา 12 ปี ระบุว่า “ตัวเลข 90 วินาที คือตัวเลขที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ FAA ได้ทดลองเอาไว้ว่าเป็นเวลาที่ช้าที่สุดที่ผู้โดยสารทุกคนควรอพยพออกจากเครื่องบินหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

ซึ่ง FAA ได้รับการทดสอบ โดยการจำลองการชนและเพลิงไหม้ของเครื่องบินโดยใช้เครื่องบินดักลาส DC7 และล็อกฮีด L1649 ในเดือนเมษายนและกันยายน พ.ศ. 2507 จากการทดสอบครั้งนั้นระบุว่าแม้ว่าโครงสร้างในห้องโดยสารจะแข็งแรงขนาดไหน แต่หลังจาก 120 วินาทีคือระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้โดยสารจะสำลักควันไฟจนเสียชีวิตรวมไปถึงโดนไฟคลอกจนเสียชีวิต FAA จึงได้ปรับลดเวลาเหลือ 90 วินาทีเพื่อความปลอดภัย

ในความคิดเห็นของเจ้าของเพจในฐานะที่เป็นนักบินมาเป็นเวลา 12 ปี หากเกิดเหตุการณ์เครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์ เครื่องยนต์หรือถังที่บรรจุเชื้อเพลิงกระทบกับพื้นรันเวย์หรือพื้นดิน การครูดกันนี้อาจทำให้เกิดความร้อน ซึ่งความร้อนก็ก่อให้เกิดไฟ

“ไฟที่จะเกิดบนเครื่องบินจงจำไว้ว่า ไม่ว่าฝนจะตกหนัก หรือรันเวย์จะเปียกแค่ไหน มันไม่ได้ช่วยให้ไฟดับแต่อย่างใด และแม้ว่าจะดับเครื่องยนต์ไปเรียบร้อยแล้ว นั่นไม่ได้รับประกันว่าไฟจะไม่ไหม้ สิ่งที่ควรทำเร็วที่สุดหากผมเป็นกัปตันในเที่ยวบินนั้น คือการสั่งให้ผู้โดยสารออกจากเครื่องบินให้เร็วที่สุด เพราะคุณไม่มีทางมั่นใจใด ๆ ว่าเครื่องบินจะไม่เป็นอะไรอีกหลังจากนั้น”

ซึ่งมีนักบินหลาย ๆ คนออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม บางคนกล่าวถึงสิ่งที่ไม่สามารถคำนึงถึง คือ พฤติกรรมของผู้คนในสถานการณ์ตื่นตระหนกในชีวิตจริง ดุลยพินิจของนักบินในการใช้สภาวะฉุกเฉิน ซึ่งความเห็นในการเลือกไม่ออกจากเครื่องบินอาจทำให้เกิดความคับข้องใจกับประชาชนถึงเหตุผลได้ ในกรณีร้ายแรงอาจมีผู้โดยสารเปิดประตูฉุกเฉิน ไฟไหม้นอกเครื่องเข้าห้องโดยสาร และไม่ฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่จนเป็นอันตรายแก่ตนเองได้

บางคนยังบอกว่า การอพยพเร่งด่วน เป็นการตัดสินใจโดยตรงตามอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของนักบิน โดยใช้วิจารณญาณพิจารณาว่า มีภัยอันตรายใดคุกคามความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้โดยสารและผู้ปฏิบัติงานหรือไม่ ซึ่งนักบินแต่ละคนมีดุลยพินิจแตกต่างกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลักเสมอ

“ขออนุญาตออกความเห็นนะครับ จะได้ทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เชียงราย กับ โพสต์นี้ นะครับ
การอพยพเร่งด่วน เพื่อรีบเร่งนำพาผู้โดยสารออกจากเครื่องบินในสภาวะฉุกเฉิน (Emergency Evacuation) โดยใช้ Escape slide ซึ่งอ้างอิง 90 Seconds rule FAA นั้น เป็นการตัดสินใจโดยตรงตามอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของกัปตัน โดยใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า มีภัยอันตรายใดคุกคามความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้โดยสารและผู้ปฏิบัติงาน”

“สรุปง่าย ๆ ก็คือ กัปตันพิจารณาแล้วว่า ลักษณะดังกล่าว อาจไม่ได้คุกคามความเสี่ยงต่อชีวิตทุกคนบนเครื่องบิน ซึ่งกัปตันควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว แม้ว่าล้อเครื่องบินจมลงไปในพื้นดินที่มีความอ่อนตัว และไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะเกิดควันหนาหรือถังน้ำมันรั่วหรือไฟไหม้ในห้องโดยสารเครื่องบิน
ในทางกลับกัน การอพยพเร่งด่วนในสภาวะฉุกเฉิน Emergency Evacuation ในสภาพฝนตก ที่ยังไม่มีภัยอันตรายคุกคามนั้น อาจเกิดการบาดเจ็บรุนแรงได้ครับ”

“ถ้าเป็นสายการบินที่ผมเคยทำงาน ถ้าจำไม่ผิด ไม่ใช่ว่าเกิดอุบัติเหตุปุ๊บ จะเริ่มอพยพทันที ลูกเรือจะพยายามติดต่อนักบินก่อน เผื่อว่านักบินมีคำสั่งให้รอความช่วยเหลือบนเครื่องได้ (เพราะบางกรณี อยู่บนเครื่อง ปลอดภัยกว่าออกไปข้างนอกครับ) ถ้าติดต่อไม่ได้ หรือเครื่องบินเสียหายอย่างชัดเจน ลูกเรือถึงจะเริ่มอพยพผู้โดยสารครับ”

ทางเว็บไซต์ The points guy รายงาน การตัดสินใจอพยพเครื่องบินไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างที่คิด ในท้ายที่สุด มันขึ้นอยู่กับว่า การตระหนักและการขบคิดของนักบินที่ให้ความเห็นว่าความปลอดภัยของผู้โดยสารจะปลอดภัยในห้องโดยสารหรือข้างนอกเครื่องบินมากกว่ากัน และต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย

เช่น ออกเดินทางในตอนกลางคืนช่วงกลางฤดูหนาวของแคนาดา ผู้โดยสารที่อพยพอาจต้องรอสักครู่ในสภาพอากาศที่หนาวจัด ก่อนที่พวกเขาจะถูกส่งกลับไปยังอาคารผู้โดยสาร ซึ่งบางคนไม่มีการเตรียมพร้อมในเรื่องของการแต่งกาย อาจทำให้พบกับความหนาวเย็นจนไม่สบายได้ เป็นผลให้นักบินต้องชั่งน้ำหนักข้อดี – ข้อเสียของทั้งสองตัวเลือก

หากการตัดสินใจอพยพเกิดขึ้นจะต้องดำเนินการอย่างช้า ๆ และเป็นระบบให้มากที่สุด เริ่มจากการจัดเครื่องบินให้อยู่ในรูปแบบที่ปลอดภัยเพื่อให้ลูกเรือเริ่มการอพยพได้ โดยการกระโดดลงจากสไลเดอร์ในขณะที่เครื่องยนต์ยังทำงานอยู่อาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น ขอแนะนำให้ฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่และดุลยพินิจของนักบิน

ขอบคุณที่มาจาก FAA I’m from Andromeda The points guy

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน