จวกยับ! นักท่องเที่ยวต่างชาติอวด จับ‘ปลานกแก้ว’ เยอะเป็นพวง ในเกาะพีพี ไม่สนกฎหมายไทย วอนรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงโทษ

กระแสไวรัลในโลกออนไลน์กำลังแห่วิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนหนึ่งโพสต์คลิปวิดีโอปลานกแก้ว ปลาไหลมอเรย์ และปลาอื่น ๆ ที่เกาะพีพี เกาะสวรรค์แห่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่

โดยนักท่องเที่ยวคนดังกล่าว ระบุในคลิปวิดีโอว่าตนเองทำการยิงปลาด้วยฉมวกหรือ Spear Fishing โดยเจตนาลงดำน้ำลึกลงไปถึง 30 เมตร งานนี้ ชาวเน็ตไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งจนเกิด #ฝรั่งจับปลานกแก้ว ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย

ชาวทวิตเตอร์รายหนึ่งได้ออกมาโพสต์ “การจับสัตว์ในเขตพื้นที่อุทยานว่าผิดแล้ว ยังจับปลานกแก้วที่เป็นสัตว์คุ้มครองได้ยังไง ปลานกแก้วคือปลาที่มีความสำคัญมากในระบบนิเวศใต้ทะเล น้องยังช่วยกำจัดปะการังที่ตายแล้ว คนที่พามาก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ อยากให้ช่วยตามเรื่องนี้” ซึ่งมียอดรีทวิตมากกว่า 2 หมื่นครั้ง ชาวเน็ตหลาย ๆ คนวอนรัฐเข้าเอาผิดชาวต่างชาติคนดังกล่าวตามกฎหมายไทย พร้อมลงโทษคนบนเรือฐานไม่ตักเตือนชาวต่างชาติคนดังกล่าว

“โกรธอยู่นะ คือน้องมันสำคัญต่อระบบนิเวศใต้น้ำ คอยกินซากปะการังที่ตายให้ คอยกันไม่ให้สาหร่ายขึ้นปกคลุมปะการังให้อีก ถึงเป็นนักท่องเที่ยวก็เถอะแต่ก็ไม่มีสิทธิมาฆ่าจับสัตว์อะไรแบบนี้ได้พร่ำเพรื่อ” , “หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องออกมารับผิดชอบความหละหลวมนี้นะ เขาอยู่ของเขาดี ๆ ใต้ทะเล ให้คนไปดำน้ำได้ดูได้ชม แล้วจะจับไปเพื่อนอะไร สัตว์อนุรักษ์ทั้งนั้นอ่ะ” , ” กม.ไทยต้องเอาจริงกับนทท.ต่างชาติพวกนี้แล้วนะ”

“เห็นแล้วแบบจะร้องไห้เลย ควรมีกฎออกมาได้แล้วมั้ยอะว่าคนขับเรือ-ผู้ประกอบการที่พานทท.เที่ยวเข้าไปในสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติต้องเป็นคนที่มีความรู้ในระดับหนึ่งเลย แล้วคือคนที่อยู่ตรงนั้นไม่มีใครห้ามหน่อยเหรอ จับน้องปลาขึ้นมาเลยอะขนาดนั้นเลยอ่ะ” ล่าสุด ชาวต่างชาติคนดังกล่าวได้ทำการลบคลิปจับปลานกแก้วและปลาอื่น ๆ ออกไปจากติ๊กต็อกเรียบร้อยแล้ว

สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ปลานกแก้ว (Parrotfish) เป็นปลาทะเลขนาดกลางชนิดหนึ่ง มีเกล็ดขนาดใหญ่ จะงอยมีปากยืดหดได้ ปากคล้ายนกแก้ว (เป็นที่มาของชื่อปลานกแก้ว) เนื่องจากปลานกแก้วมีรูปร่าง ลักษณะและสีสันสวยงาม จึงมีผู้นิยมจับมาดูเล่นและนำมาเป็นอาหาร

ทำให้ประชากรปลานกแก้วลดลง ส่งผลกระทบระบบนิเวศโดยรวมของทะเลบริเวณนั้นก็จะเสียสมดุลไปอย่างมาก ปะการังตายมากขึ้น ฟื้นตัวช้า และเมื่อเกิดการฟอกสีเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ก็จะฟื้นตัวยากหรือตายไปอย่างถาวร

ภาพจาก สำนักอุทยานแห่งชาติ – National Parks of Thailand

สำนักอุทยานแห่งชาติ ขอรณรงค์ทุกท่านร่วมกัน ไม่สนับสนุน ไม่ซื้อ ไม่รับประทานปลานกแก้ว หากพบเห็นการจับปลานกแก้วในเขตอุทยานแห่งชาติให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีประกาศ ฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ห้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทำอันตรายกับสัตว์ต่างๆ ทุกชนิดในอุทยานแห่งชาติ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดและต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

มาตรา 16(3) นำสัตว์ออกไปหรือทำอันตรายด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ ประกอบกับ
มาตรา 21 ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 16 ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ หรือ งดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 24
ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16(3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขอบคุณที่มาจาก สำนักอุทยานแห่งชาติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน