สรุปดราม่า ช้อปปิ้งงานวิจัย จ่ายเงินซื้อเพื่อให้ได้ใส่ชื่อตัวเอง โดยที่ไม่ต้องทำจริง จ่ายครบได้เป็นเจ้าของ นำไปเคลม-เบิกเงินได้

กำลังเป็นประเด็นพูดถึงในแวดวงวิชาการ เมื่อมีนักวิชาการไทยในต่างประเทศออกมาแฉว่า มีการซื้อขายงานวิจัยเพื่อให้ได้ใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้แต่งงานวิจัย โดยที่ผู้นั้นไม่ต้องลงมือทำวิจัยจริง ๆ เรื่องนี้มีที่มาอย่างไรมาสรุปดราม่าครั้งนี้กัน

จุดเริ่มต้นมาจากนักวิชาการไทยในต่างประเทศคนหนึ่งออกมาแฉว่า ปัจจุบันมีการซื้อขายออนไลน์เพื่อให้ได้ใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้แต่งงานวิจัย โดยที่ไม่ต้องทำจริง โดยสามารถเข้าไปอ่านงานวิจัยในเว็บขาย แล้วเลือกว่าอยากให้ตนเองมีชื่ออยู่ในงานวิจัยไหน

งานวิจัยที่มีผู้แต่งหลายคนจะเรียงชื่อตามลำดับความสำคัญและการมีส่วนร่วม ถ้าอยู่ลำดับแรกต้องจ่ายราคาแพงหน่อย ลำดับถัดมาก็ราคาลดหลั่นกันไป เมื่อเลือกได้แล้วก็กดซื้อและชำระเงิน จากนั้นงานวิจัยนี้ก็จะถูกส่งไปตีพิมพ์ และผู้ที่จ่ายเงินก็เอางานวิจัยนี้มาเคลมเป็นผลงานของตัวเอง

ปรากฏว่ามีชื่อนักวิจัยไทยไปปรากฏอยู่ในงานวิจัยประเภทนี้หลายสิบชิ้น เช่น งานวิจัยเรื่องวัสดุนาโน ชื่อผู้แต่งลำดับที่ 1 อาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังทางภาคเหนือ และชื่อที่ 3 อาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่ง

โดยข้อสังเกตเกี่ยวกับงานวิจัยประเภทนี้คือ ผู้แต่งร่วมจะมาจากหลายประเทศคนละมุมโลก ไม่รู้จักกันมาก่อนแค่มากดซื้องานวิจัยชิ้นเดียวกัน และอีกหนึ่งข้อสังเกตคือนักวิจัยเหล่านี้มักทำวิจัยข้ามศาสตร์ที่ตนเองจบ เช่น งานวิจัยวัสดุนาโน มีผู้แต่ง 9 คน มาจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย, อินเดีย, อิรัก, อิหร่าน และซาอุดิอาระเบีย

เรื่องราวครั้งนี้ถูกนำไปเชื่อมโยงและตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังทางภาคเหนือ โดยเดิมทีปี 2019 อาจารย์ท่านนี้มีงานวิจัยแค่ชิ้นเดียว แต่ในปี 2020 มีเพิ่มเป็น 40 ชิ้น และปี 2021 เพิ่มถึง 90 ชิ้น

ต่อมาบุคลากรในแวดวงวิชาการออกมาแฉเพิ่มว่า อาจารย์ท่านนี้จ่ายเงินซื้อชื่อผู้แต่งลำดับที่ 1 ในราคา 900 ดอลลาร์ หรือราว ๆ 30,000 บาท จากนั้นได้นำงานวิจัยไปเบิกเงินกับมหาวิทยาลัย 1.2 แสนบาท เท่ากับว่าจะได้เงินส่วนต่าง 90,000 บาท

มีอาจารย์และนักวิชาการหลายท่านออกมาพูดถึงเรื่องดังกล่าว อาทิ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หากลองค้นหาชื่ออาจารย์ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ จะพบประวัติการตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษใน academia edu และ loop.frontiersin.org

โดยชื่อของอาจารย์ท่านนี้ที่ปรากฏร่วมกับคนอื่นในวารสารต่าง ๆ นั้น ไม่ได้มีแค่บทความข้ามศาสตร์เกี่ยวกับวิศวกรรม แต่ยังมีบทความเกี่ยวกับเกษตร คริปโทเคอร์เรนซี เศรษฐศาสตร์การเงิน ในรัสเซีย อินโดนีเซีย โลกมุสลิม ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าทำแบบนี้มานานแล้ว และที่สำคัญคือ ไม่พบบทความภาษาไทยเกี่ยวกับวิจัยข้างต้นที่อาจารย์ท่านนี้มีชื่อเขียนร่วมกับคนอื่น ๆ ปรากฏในวารสารในภาษาไทยเลย

ด้านดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาไบโอเทค-สวทช. ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เรื่องนี้ไม่ต่างการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในวงการราชการเลย ทำให้เหล่านักวิชาการคนอื่น ๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและจัดการขั้นเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง

ขอบคุณที่มา 1,2,3,4

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน