นพ.สมศักดิ์ แนะดึง แพทย์เกษียณอายุไม่เกิน 65 ปี มาช่วยแก้ปัญหา ‘หมอลาออก’ ย้ำ ต้องเป็นวาระชาติ ทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงร่วมหาทางออก

12 มิ.ย. 2566 – นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวถึงกรณีหมอลาออก ว่า ปัญหาสุขภาพของคนไทยขณะนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ละปีต้องใช้งบประมาณมหาศาล ใช้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก ส่งผลให้บุคลากรที่มีจำนวนไม่เพียงพออยู่แล้วภาระงานเพิ่มขึ้นมาก เกิดผลกระทบมากมาย หนึ่งในนั้นคือ แพทย์ลาออก ซึ่งมีหลายสาเหตุ แต่ภาระงานที่หนักเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ การพยายามแก้ปัญหาแพทย์ลาออกด้วยวิธีหนึ่ง จึงต้องร่วมกันหลายๆ ฝ่ายหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่แค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่าสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน มองว่าการแก้ปัญหาควรเป็นวาระแห่งชาติ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องจริง เพราะตอนนี้เป็นปัญหาผลพวงจากหลาย ๆ ส่วน โดยหลัก ๆ ผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น ความต้องการของผู้ป่วยและสังคมมีความคาดหวังจากสาธารณสุขไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ กฎระเบียบต่าง ๆ ในการดูแลรักษาคนไข้ก็มีเกณฑ์จากหน่วยงานต่าง ๆ มาจับมากขึ้น กลายเป็นภาระงานของแพทย์ พยาบาล ทำให้ต้องทำงานเพิ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาโดยตรง ไม่ว่าจะงานความเสี่ยง งานคุณภาพ เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นมา รวมไปถึงค่าตอบแทนต่าง ๆ ตรงนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายกระทรวง และการป้องกันโรคการส่งเสริมสุขภาพต้องใช้ความร่วมมือหลายส่วนจริง ๆ จึงควรเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกหน่วยงานต้องมาร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

แต่ทางออกเฉพาะหน้าที่ทำได้ทันที คือ ขยายอายุแพทย์เกษียณให้เข้ามาช่วยทำงาน ลดภาระงานแพทย์ Intern อาจขยายไปในช่วงอายุ 63-65 ปี ส่วนแพทย์บริหารมองว่าไม่น่าจะได้ เพราะห่างจากวงการตรวจวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยไปนานแล้ว แต่แพทย์ที่เพิ่งเกษียณสามารถทำได้ ให้มาช่วยตรวจคนไข้แผนก OPD จะลดภาระงานส่วนหนึ่งลง สามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องปรับกฎระเบียบอะไร เพราะสามารถจ้างต่อได้ทันที คล้ายจ้างพาร์ตไทม์

ช่วงอายุ 63-65 ปีน่าจะอยู่ในกรอบอายุที่มองว่า ยังมีสุขภาพที่แข็งแรง แพทย์ยิ่งอายุมากก็มีประสบการณ์มาก อายุระหว่างนี้จะมีคุณสมบัติที่เพียบพร้อม ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ การควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ จึงคิดว่าน่าจะเหมาะสม

เมื่อถามว่ามีข้อกังวลว่า แพทย์อาวุโส ยิ่งแพทย์เกษียณฯ อาจมีปัญหาการสื่อสารกับหมอรุ่นใหม่ ๆ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีที่เสนอนั้น คือ ควรทำงานแยกกันไปเลย โดยแพทย์เกษียณน่าจะมาช่วยตรวจคนไข้ OPD ส่วนการอยู่เวร แพทย์เกษียณไม่น่าจะอยู่ไหว แต่การมาตรวจ OPD แทน Intern จะช่วยลดภาระได้ การทำงานไม่ได้ติดต่อโดยตรง หรือบางคนก็ยังสามารถมาเป็นที่ปรึกษาแพทย์ OPD ได้ เพราะส่วนนี้ไม่ได้เคร่งเครียดเท่าฉุกเฉิน มองว่าทำงานด้วยกันได้ เพราะ Intern ก็เป็นรุ่นลูกของอาจารย์แพทย์ที่เกษียณแล้ว แนวทางตรงนี้เป็นแนวทางระยะสั้นที่จะแก้ปัญหาได้เลยและทำได้ทันที

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน