‘บิ๊กตู่’โยนนักการเมือง-โรงสีกดราคาข้าว สั่งคสช.-ทหาร ลุยสอบ ให้คลังเช็กภาษีย้อนหลัง-หามาตรการเอาผิด นบข.เคาะรับประกันยุ้งฉางตันละ 8,730 บาท บวกเงินช่วยเหลือจะได้หมื่นสี่ ด้านชาวนาผิดหวัง ซัดรัฐบาลคือผู้กดราคาเอง ขณะที่ชาวนาชัยนาทต้องแบ่งขายที่ใช้หนี้ธ.ก.ส. โรงสีวอนอย่าโยงร่วมการเมือง พท.ตอกกลับบริหารบกพร่อง แนะใช้จำนำข้าวช่วย ศาลยกฟ้องวัฒนาคดีหมิ่นคสช.

‘ตู่’ชี้นักการเมือง-โรงสีทำข้าวรูด

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวช่วงต้นของการประชุมว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิมีปัญหาที่เกิดขึ้นจาก 2 ประเด็นคือ การปรับโครงสร้างการเกษตรที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ครบวงจร ยังทำไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก็จะเกิดปัญหา และอีกประเด็นคือ การเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีการร่วมมือกันระหว่างนักการเมืองในพื้นที่ ร่วมกับบางโรงสี กำหนดราคาข้าวให้ต่ำลง โดยหวังให้เกิดประเด็นต่อประชาชนให้เกิดการต่อต้านหรือขัดแย้งกับรัฐบาล จึงต้องสร้างความเข้าใจทั้งระบบ และจะประชุมให้ได้ข้อยุติ

201610311054078-20061002145931

ยันพอใจมาตรการช่วยชาวนา

“การประชุมวันนี้ขอให้ดำเนินการโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด มีข้อตกลงได้และนำไปสู่การปฏิบัติได้ในวันพรุ่งนี้ทันที ไม่เช่นนี้ก็จะถูกบิดเบือนไปเรื่อย จนกลายเป็นปัญหาทำให้การบริหารงานด้านอื่นๆ มีปัญหาตามมาด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมนบข.เพียงสั้นๆว่า รู้สึกพอใจกับมาตรการการช่วยเหลือชาวนาที่ออกมา โดยขอให้รอฟังผลการประชุมจากนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ที่กองอำนวยการร่วมกรุงเทพมหานคร ท้องสนามหลวง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับประชาชนจากจ.ฉะเชิงเทรา ที่ขอให้ช่วยเหลือเรื่องราคาข้าวที่ตกต่ำว่า ได้ประชุม นบข. และสั่งการไปเรียบร้อยแล้ว แต่จะให้รัฐบาลนำเงินไปให้ 15,000 บาทเหมือนที่ผ่านมาคงเป็นไปไม่ได้ ยืนยันตนเป็นนายกฯ ของคนทั้งประเทศ ขอให้เห็นใจตนด้วยเพราะต้องดูแลคนทั้งประเทศ และเกษตรกรทุกประเภท และน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาแนะนำว่า หากปลูกข้าวและขาดทุนให้ปลูกมันสำปะหลัง ผลไม้ หรือพืชอื่นๆ ผสมผสาน ซึ่งข้าวก็ปลูกไว้กิน ซึ่งพระองค์ท่านทรงให้คำแนะนำไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า การปลูกข้าวเพื่อไว้กิน หากเหลือก็ปลูกไว้ขาย หรือปลูกไว้เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าประเภทอื่น จึงขอให้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวมาปฏิบัติ ตามด้วย

นบข.เคาะรับจำนำตันละ 8,730 บ.

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมนบข.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส.ช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมมะลิเป็นค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวและค่าใช้จ่ายเก็บเกี่ยวไร่ละ 500 บาท ไม่เกินรายละ 10 ไร่ หรือคิดเป็นการช่วยเหลือ 1,295 บาทต่อตัน โดยใช้งบประมาณเพิ่มเติม 8,600 ล้านบาท ให้ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อนแล้วรัฐบาลชดเชยเงินงบประมาณคืนในภายหลัง โดยจะ เสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 1 พ.ย.

นางอภิรดีกล่าวว่า หลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางที่ราคา 90 เปอร์เซ็นต์ของราคาตลาดปัจจุบันที่ราคาตันละ 9,700 บาท เกษตรกรจะได้รับเงินจากธ.ก.ส.ที่ตันละ 8,730 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางจะได้ค่าเก็บรักษาข้าวตันละ 1,295 บาท ซึ่งคิดจากเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวไร่ละ 500 บาทรายละไม่เกิน 10 ไร่ และค่าเก็บข้าวในยุ้งฉาง 1,500 บาทต่อตัน โดยจะจ่ายให้ทันที 1,000 บาท และอีก 500 บาทจะจ่ายเมื่อไถ่ถอน รวมแล้วเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือตันละ 11,525 บาท นอกจากนั้นยังมีเงินสนับสนุนด้านต้นทุนการผลิตที่เคยให้ ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จำนวน 2,591 บาท รวมเป็นเงินตันละ 14,116 บาท

สั่งสอบโรงสีป้องกดราคา

รมว.พาณิชย์กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางเก็บข้าว จะได้รับการช่วยเหลือรวมค่าเก็บรักษาข้าว 1,295 บาทต่อตัน รวมเป็นการช่วยเหลือตันละ 10,995 บาท โดยรัฐบาลมีเป้าหมายชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิออกจากตลาดปริมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งมาตรการนี้มีผลใช้ทันที ส่วนมาตรการช่วยเหลือข้าวชนิดอื่นๆ จะพิจารณาเมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดอีกครั้ง โดยกระทรวงพาณิชย์มอบให้พาณิชย์จังหวัดเข้าไปดูแล ตรวจสอบโรงสี ไม่ให้กดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกร โดยให้โรงสีติดป้ายแสดงราคารับซื้อข้าวให้ชัดเจน ส่วนกระทรวงเกษตรฯติดตั้งเครื่องมือวัดความชื้น เพื่อไม่ให้เอาเปรียบเกษตรกร และกระทรวงพาณิชย์จะออกตรวจสต๊อกข้าวของผู้ส่งออกทุกรายอย่างเข้มงวด โดยให้มีสต๊อกไม่ต่ำกว่า 500 ตัน

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมนบข.รับทราบสถานการณ์ข้าวของโลกในปีนี้ที่ส่งผลต่อราคาข้าวไทย ผลผลิตข้าวโลกในปีนี้ขยายตัวสูงขึ้น 2.4 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณสต๊อกข้าวโลกสูงขึ้น 4.3 เปอร์เซ็นต์ การบริโภคลดลง 1.5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ราคาข้าวถูกกดดันจนราคาลดลง คาดว่าสถานการณ์ราคาข้าวจะดีขึ้นเมื่อปริมาณฝนลดลง ทำให้ชาวนาไม่จำเป็นต้องเร่งรัดขายข้าวเหมือนในช่วงต้นฤดู ซึ่งนบข.หารือว่าจะต้องประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเข้าใจเรื่องการประกันภัยพืชผล กรณีมีปัญหาเรื่องข้าวล้มหรือน้ำท่วมที่นาจากภัยพิบัติ ชาวนาสามารถแจ้งให้ธ.ก.ส.เข้ามาประเมินความเสียหายและรับเงินชดเชยได้

จ่อลดภาษีคนช่วยซื้อข้าวไปเก็บ

ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า นบข.ได้หารือถึงการระบายข้าวและการส่งออกข้าวโดยในวันที่ 13-15 พ.ย.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะนำเอาผู้ประกอบการที่นำเข้าข้าวจากไทยมาหารือ โดยเป็นผู้นำเข้าข้าวจากไทย 15 ประเทศ รวมทั้งจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มเติมจาก COFCO ประเทศจีน และ NFA จากฟิลิปปินส์ ทำให้ประเทศไทยมีตลาดข้าวรองรับสำหรับฤดูกาลใหม่ รวมทั้งมีมาตรการออกมาหลายอย่าง เพื่อให้โรงสีและผู้ส่งออกเก็บสต๊อกข้าวเพื่อดูดซับผลผลิตออกจากตลาดให้มากที่สุด ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้พิจารณามาตรการ ลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนที่ช่วยกันซื้อข้าวเก็บสต๊อกไว้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับที่ขอลดหย่อนภาษีสำหรับการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเตรียมเจรจากับภาคเอกชน เช่น ปตท. บางจาก ให้ช่วยทำโครงการเติมน้ำมันแจกข้าว เพื่อให้ข้าวออกมาอยู่ในมือผู้บริโภคให้มากที่สุดด้วย

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวถึงเกษตรกรรวมกลุ่มกันขายข้าวผ่านช่องทางออนไลน์ว่า ยืนยันว่าทำได้และไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจาก ผู้ขายเป็นเจ้าของข้าวโดยตรง โดยการจดทะเบียนธุรกิจเป็นขั้นตอนของการคุ้มครอง ผู้บริโภค ซึ่งเกษตรกรเข้ามาจดทะเบียนการทำธุรกิจออนไลน์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทันที แต่ถึงไม่จดทะเบียนก็ค้าขายผ่านออนไลน์ได้อยู่แล้ว ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ให้กรมการค้าภายในและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกันหาแนวทางให้ชาวนาและ ผู้ประกอบการค้าข้าว สามารถทำการค้าผ่านออนไลน์ได้ตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้เกษตรกรเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรรายใดสนใจ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยให้ความรู้ให้ชาวนาดำเนินการค้าได้จริง

บี้โรงสี-สั่งเช็กภาษีย้อนหลัง

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในที่ประชุม นบข. พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังหามาตรการทางภาษี โดยเฉพาะการตรวจสอบภาษีย้อนหลังกับ โรงสีที่รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ราคาตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยต้องเข้าไปดูบัญชีรายรับ รายจ่ายโรงสีว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ และรายได้ที่ได้รับมีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ และหามาตรการทางภาษีที่จะเอาผิดกับพวกโรงสีที่กดราคาข้าวชาวนา ทำให้ราคาตกต่ำอย่างรุนแรง

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า จะต้องขอดูรายละเอียดเรื่องดังกล่าวก่อนว่าจะเข้าไปตรวจสอบในส่วนไหนได้บ้าง หากโรงสีจดทะเบียนเป็นบริษัท จะต้องเสียภาษีนิติบุคคล หรือถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ แต่จะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะเป็นสินค้าประเภทพืชผลทางการเกษตร

ลั่นส่งทหารลุยสอบกดราคา

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงมติราคารับจำนำที่ 8,730 บาทต่อตันว่า สงสารชาวนา แต่ราคาเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. โดยกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะภาคผลิตพยายามช่วยเป็นปากให้ชาวนาเต็มที่แล้ว ซึ่งในที่ประชุมพล.อ.ประยุทธ์บอกว่าหากมาตรการนี้ยังไม่เพียงพอ อาจมีมาตรการใหม่เข้ามาเสริม แต่จะเป็นมาตรการอะไร ต้องดูผลของมาตรการรับจำนำยุ้งฉางก่อน โดยในที่ประชุมกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าขณะนี้ราคาตลาดอยู่ที่ 9,700-12,000 บาทต่อตัน แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ใช้ 90 เปอร์เซ็นต์ ราคาตลาดตัวต่ำสุด คือ 9,700 บาท ราคารับจำนำจึงออกมาเป็น 8,730 บาทต่อตัน นอกจากราคารับจำนำ ก็ยังมีค่าฝากอีก 1,500 บาทต่อตัน เงินค่าช่วยเหลือและเก็บเกี่ยวอีกไร่ละ 500 บาท ไม่เกินรายละ 10 ไร่ ทำให้ชาวนาจะได้รับเงินทันทีที่เข้าโครงการ 11,525 บาทต่อไร่

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการประชุมนบข.ว่า ผู้ประกอบการโรงสีเองจะต้องถูกตรวจสต๊อกข้าวเช่นเดียวกัน ทั้งนี้หากเกษตรกรไปขายแล้วราคาต่ำเกินไปก็มาขายกับเครือข่ายของรัฐ แล้วดูว่าเมื่อพ่อค้าไม่มีข้าวในมือแล้วจะทำอย่างไร ซึ่งการกำหนดราคาขายเช่นนี้เป็นการยืนยันว่าราคาข้าวจะไม่ต่ำไปกว่านี้ ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้ คสช.ลงพื้นที่ตรวจสอบโดยประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ว่าเกษตรกรที่ขายข้าวกับผู้ประกอบการข้างนอกและถูกตรวจวัดความชื้นและถูกหักค่าความชื้นเป็นความจริงหรือไม่ ส่วนข้อสงสัยว่ามีนักการเมืองเกี่ยวข้องกับโรงสี ทำให้เกิดปัญหาเรื่องราคาข้าวนั้น ตนยังไม่อยากพูดถึง แต่เป็นธรรมดาที่ต้องมี จึงให้ทหารและคสช.ลงไปตรวจสอบ

โฆษกกห.แจงให้ไปขายปุ๋ยแทน

ที่บก.ทบ. พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคสช. เปิดเผยผลการประชุมสำนักงานเลขาธิการ คสช. โดยมีพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. เป็นประธานว่า ปัญหาราคาข้าวในปัจจุบันมีความไม่ปกติ อาจเกิดจากหลายปัจจัย รวมทั้งอาจมีกระบวนการสร้างกลไกราคาเทียม ซ้ำเติมเกษตรกร เพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งคสช.โดยกกล.รส.จะเข้าช่วยตรวจสอบและรับฟังข้อมูลจากเกษตรกรในทุกพื้นที่ รวมทั้งร่วมกับส่วนราชการที่รับผิดชอบโดยตรง เข้าตรวจสอบการรับซื้อข้าวของโรงสีในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเสนอเป็นข้อมูลให้รัฐบาลนำไปพิจารณาบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วนต่อไป

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวถึงปัญหาข้าวราคาตกต่ำว่า รัฐบาลพยายามช่วยทุกอย่าง ดังนั้นไม่ต้องห่วงเพราะรัฐบาลต้องดูแลประชาชน พร้อมหาแนวทางแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เพื่อทำให้ชาวนาไม่ขาดทุนและสามารถอยู่ได้ นายกฯ ก็พยายามจะแก้ไขปัญหาอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ราคาปุ๋ยแพงกว่าราคาข้าวอีก พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้น ป้าก็ไปขายปุ๋ยแทนแล้วกัน”

จากนั้นพล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงว่า การตอบคำถามดังกล่าวพล.อ.ประวิตร ไม่ได้หมายถึงเกษตรกร แต่เป็นการพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับนักข่าวอาวุโสที่ถามซึ่งมีความสนิทสนมกัน ในสถานการณ์อย่างนี้ไม่อยากให้สร้างประเด็นสู่ความขัดแย้ง

สั่งผู้ว่าฯชะลอชาวนาขายข้าว

วันเดียวกัน นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด (ยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการข้าว โดยระบุว่าเนื่องจากขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ และบางพื้นที่มีปัญหาราคาข้าวถูกกดราคาต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จึงขอให้ผู้ว่าฯ บริหารจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้ 1.ให้จังหวัดจัดการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด และคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อรับทราบสถานการณ์ข้าว รวมทั้งหารือแนวทางจัดหารถเกี่ยวข้าวให้เพียงพอต่อปริมาณข้าวที่เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวแล้วส่งผลการประชุมให้กระทรวงพาณิชย์ และสำเนาให้กระทรวงมหาดไทยทราบด้วย

2.ขณะนี้ทราบว่ากระทรวงการคลัง โดยธ.ก.ส.จะนำเสนอมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียวในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ทำให้ชาวนาไม่ต้องรีบขายข้าว สามารถเก็บข้าวเปลือกไว้รอราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ชาวนาต้องตากข้าวให้แห้งเพื่อให้มีความชื้นไม่เกิน 15% และในระหว่างชาวนารอขายข้าว จะได้รับสินเชื่อจากธ.ก.ส. ไม่น้อยกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม กับได้รับค่าเก็บรักษาข้าวเพื่อรอการขายอีกกิโลกรัมละ 1.50 บาท เพื่อให้นบข.และครม.พิจารณา ทั้งนี้สินเชื่อที่ธ.ก.ส.จะจ่ายให้แก่เกษตรกร เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนั้น จะต้องรอความชัดเจนจากการพิจารณาของ นบข.และครม.ก่อน จึงให้จังหวัดชี้แจงเรื่องดังกล่าว และขอให้ช่วยกันรณรงค์ให้ชาวนาชะลอการขายข้าวไว้ก่อน เพื่อร่วมโครงการของธ.ก.ส.ซึ่งจะทำให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่สูงกว่าปัจจุบัน

โรงสีโวยอย่าเอาไปโยงการเมือง

วันเดียวกัน นายมนัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทยกล่าวว่า ปัญหาข้าวราคาตกต่ำขณะนี้เป็นเพราะข้าวสารราคาตก เนื่องจากผู้ซื้อ ผู้ส่งออกแจ้งราคารับซื้อข้าวสารในเดือนธ.ค. เหลือ 15,000 บาทต่อตัน จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 20,000-22,000 บาทต่อตัน ทำให้โรงสีต้องรับซื้อในราคาที่ลดลงไปด้วย ยืนยันว่าโรงสีไม่ได้กดราคาข้าว และไม่ได้แบ่งพื้นที่กันรับซื้อข้าว เพราะปกติจะแย่งกันซื้อข้าวจากชาวนาอยู่แล้ว ส่วนที่ชาวนามีแนวคิดรวมตัวกันเพื่อจัดทำข้าวถุงขายเองนั้น ทางโรงสียินดีสนับสนุนและสมาชิกในสมาคมพร้อมให้คำปรึกษากับชาวนาที่ต้องการทำข้าวถุงขายเอง

“ผมซื้อข้าวเปลือกมาจากชาวนา ต้องคำนวณทั้งต้นข้าว ปลายข้าว รำ ความชื้น ซื้อมาก็ต้องขายต่อให้พ่อค้าทำเป็นข้าวสาร ซึ่งมันขึ้นอยู่กับตลาดโลก อย่าลืมว่าประเทศไทยปลูกข้าวเยอะก็จริงแต่ไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาข้าวของโลก ทุกอย่างมันไม่ได้อยู่ที่เรา และอย่าโยงเอาโรงสีไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม เพราะพวกผมเป็นพ่อค้าทำธุรกิจ เมื่อเร็วๆนี้มีทหารมาที่โรงสีผมมาสอบถามเรื่องการซื้อขายข้าว ผมก็พูดตามความจริงว่าซื้อข้าวมาจากชาวนา แล้วขายต่อ เพราะไม่ได้ทำธุรกิจขายข้าวสาร แล้วจะให้พวกผมทำอย่างไร ขอร้องว่าอย่าทำให้พวกผมกลายเป็นพวกฝั่งตรงข้าม อย่าเอาการเมืองมาเกี่ยวข้อง แล้วพอมีปัญหาตอนนี้คือทางพ่อค้าก็หยุดซื้อข้าวจากพวกผมเลยก็ไม่รู้จะให้ทำยังไง” นายมนัสกล่าว

ผู้ส่งออกยันไม่มีปั่นราคาข้าว

นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า ราคาข้าวที่ตกต่ำเกิดจากปัจจัยทั้งภายในและนอกประเทศ ฝนตกลงมาทำให้ข้าวที่ชาวนาเก็บเกี่ยวมามีความชื้นสูงและไม่มีเตาอบที่จะใช้อบเพื่อลดความชื้น ทำให้ต้องเร่งขายข้าวให้กับโรงสี ซึ่งโรงสีก็รับซื้อตามระดับความชื้นของข้าว จึงเป็นสาเหตุทำให้ข้าวราคาตกต่ำ จึงไม่อยากให้ชาวนาหรือคนทั่วไปเข้าใจพ่อค้าหรือโรงสีอยู่เบื้องหลังปั่นราคาข้าวให้ตกต่ำ เพราะไม่ได้ส่งผลดีต่อใครเลย ขณะนี้ผู้ส่งออกก็ส่งออกข้าวได้ยากมากอยู่แล้ว โดยข้าวขาวไทยอยู่ที่ 350 เหรียญต่อตัน เวียดนามอยู่ที่ 340 เหรียญต่อตัน และเป็นไปไม่ได้ที่พ่อค้าไทยจะเป็นคนกำหนดราคาข้าวทั้งโลก ราคาข้าวตกหรือเพิ่มขึ้นมันเป็นไปตามกลไกตลาด และไม่ได้ราคาตกแค่ข้าวไทย ประเทศอื่นก็ตกเช่นกัน

“กำลังซื้อประเทศนำเข้าข้าวก็แผ่ว ทุกประเทศที่ปลูกข้าวราคาก็ตกหมด ผู้ส่งออกพยายามทำวิกฤตเป็นโอกาส จะเร่งระบายข้าวออกไปให้ได้มากที่สุด ตอนนี้ทำได้เดือนละ 8 แสนตัน หากราคาลดต่ำลงอีกไม่แน่ว่าอาจระบายได้เดือนละ 1 ล้านตัน ต่อจากนี้และเมื่อถึงสิ้นปีอาจส่งออกได้มากกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ที่ 9.5 ล้านตัน เป็น 10-11 ล้านตันก็ได้ มูลค่ารวมก็อาจสูงขึ้นตามไปด้วย” นายวิชัยกล่าว

ชาวนาจวก‘รัฐบาล’ ไม่จริงใจ

ด้านนายวิเชียร พวงลำเจียก คณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรทำนา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯสนใจใส่ใจชาวนาบ้าง ที่ผ่านมาไม่มีความจริงจังและจริงใจในการแก้ปัญหาราคาข้าว ต้นทุนเกษตรกรสูง มีการกดราคาจากโรงสีราคาข้าวหอมมะลิลดลงมาอยู่ที่ 6,000-7,000 บาทต่อตัน ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่เมื่อชาวนาทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้รับคำตอบว่าต่างประเทศที่เคยซื้อข้าวจากไทยไม่ซื้อแล้ว เพราะผลผลิตในประเทศอื่นมีสูงขึ้น ทำให้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำเกิดขึ้นกับชาวนาไทยอีกครั้ง

นายวิเชียรกล่าวว่า ที่รัฐบาลประกาศจะรับจำนำยุ้งฉาง ถือว่ารัฐบาลไม่เข้าใจชาวนา สิ่งที่เป็นปัญหาคือชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีลานตากข้าวก็มีความชื้นสูง ไม่มียุ้งฉางสำหรับเก็บข้าว รวมถึงไม่มีแรงงานเก็บเกี่ยว เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จโดยใช้รถหรือเครื่องจักรก็ขนไปที่โรงสีเพื่อขายเลย การประกาศรับจำนำยุ้งฉางจึงไม่น่าจะเกิดประโยชน์ ไม่น่าจะชี้นำราคาได้

“ต้องบอกว่ารัฐบาลไม่จริงใจ มีการประกาศพักหนี้ แต่ดอกเบี้ยยังเดินหน้า ธ.ก.ส.ไม่พักดอกเบี้ย แล้วจะเรียกพักหนี้อย่างไร ขณะที่ข้าราชการมีเงินเดือนพักหนี้รัฐบาลอุดหนุนดอกเบี้ยให้ด้วย โดยเฉพาะข้าราชการครู รัฐบาลไม่จริงใจกับชาวนาอย่างมาก” นายวิเชียรกล่าว

201610311047531-20110111132303

ผิดหวัง‘นบข.’-กดราคาซะเอง

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยกล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับมตินบข.มาก เพราะราคาที่ออกมาต่ำกว่าที่รัฐบาลเคยบอกกับชาวนาที่จะรับจำนำยุ้งฉางที่ราคา 11,000 บาทต่อตัน และยังให้ค่าฝากเก็บอีก 1,500 บาทต่อตัน ซึ่งคิดว่าราคาชาวนาอยากได้ที่ราคา 12,500 บาทรวมค่าฝากเก็บ การที่มาตรการออกมาเช่นนี้ ไม่มั่นใจว่าจะช่วยดึงราคาข้าวได้หรือไม่ ส่วนที่รัฐบาลลดราคาจำนำยุ้งฉางลงเหลือเพียง 8,730 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ชาวนารับไม่ได้ และการที่สรุปราคากันวันสุดท้ายก่อนจะเริ่มบังคับใช้ในเดือนพ.ย. ทำให้ชาวนาไม่มีทางเลือก อย่างไรก็ตาม วันที่ 2 พ.ย.จะประชุมกรรมการสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เพื่อหาวิธีช่วยเหลือชาวนาจากสถานการณ์ข้าวราคาต่ำอีกครั้ง เบื้องต้นเมื่อผลผลิตข้าวออกมา ชาวนาก็ต้องขายไปตามกลไกแม้จะได้รับผลตอบแทนต่ำ ทั้งนี้ ชาวนาคงไม่ออกมาเคลื่อนไหว แต่อยากได้ คำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลว่ายังเห็นความสำคัญของชาวนาอยู่หรือไม่

“ปัจจุบันราคาขายข้าวอยู่ที่ 5.80-6 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่เคยตกต่ำขนาดนี้มาก่อน และการที่ราคาจำนำยุ้งฉางออกมาแบบนี้ ผมไม่รู้จะบอกชาวนาอย่างไร เพราะเป็นนโยบายที่ชาวนาทั้งประเทศคาดหวังว่าจะมาแก้ปัญหาให้ดีขึ้น เนื่องจากตอนแรกชาวนาหวังว่าเมื่อจำนำยุ้งฉางเสร็จและรับเงินจะไถ่ถอนยุ้งฉางในเดือนม.ค.-ก.พ. เพื่อนำข้าวหอมมะลิออกมาขายซึ่งได้กำไร 2 ต่อ แต่วันนี้ราคาที่ออกมาหลอกลวงชาวนา เป็นการฆ่าชาวนา วันนี้ผมไม่รู้จะไปพึ่งใคร เพราะรัฐบาลกลับเป็นผู้กดราคาเสียเอง เรื่องนี้ไม่ต้องไปโทษโรงสี หรือผู้ซื้อ เพราะราคาที่ออกมา เป็นการซ้ำเติมชาวนาให้แย่ลงกว่าเดิม ตอนนี้ผมเหนื่อยมากอยากจะหยุดทำงานตั้งแต่วันนี้” นายสุเทพกล่าว

สุดทนประกาศขายที่นา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำอย่างมาก ส่งผลให้ชาวนาในหลายจังหวัดประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนัก โดยในพื้นที่หมู่ 6 ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท มีชาวบ้านกว่า 10 ราย ประกาศขายที่ดิน ในราคา 200,000-400,000 บาท เนื่องจากทำนาขายข้าวได้ไม่มีกำไร ต้นทุน 6,000-7,000 บาท ราคาข้าวโรงสีรับซื้อเพียง 5,000-6,000 บาทเท่านั้น

นางทวาย สอนสระเกษ วัย 55 ปี ชาวนาต.ธรรมามูล กล่าวว่า ตอนนี้จะเป็นโรคประสาท ทุกวันนอนร้องไห้ จะฆ่าตัวตาย จะเขียนจดหมายบอกไว้เลยว่าที่ฆ่าตัวตายเพราะข้าวราคาถูก ไม่มีเงินให้ลูกไปกินที่โรงเรียน อยากฝากถึงคนที่สามารถพยุงราคาข้าวให้มีราคาสูงขึ้นได้ ขอสัก 8,000 บาทต่อตันก็พออยู่ได้ เมื่อขึ้นราคาให้ 8,000 บาทแล้วให้มาถามชาวนาอีกครั้งว่าเขาเดือดร้อนหรือไม่ ตอนนี้มีที่นา 30 ไร่ ตั้งใจแบ่งขาย 15 ไร่ เพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ให้หมด 7-8 แสนบาท จากนั้นเหลือ 15 ไร่ก็จะทำแค่นั้น ไม่สร้างหนี้อีกแล้ว ตอนช่วงที่ราคาข้าวหมื่นกว่าบาท ทำนาขายข้าวใช้หนี้ไปได้ ไม่ต้องกู้เงินธ.ก.ส. และยังมีเงินเข้าบัญชี ตอนนี้บัญชี ธ.ก.ส.มีแต่ถอนอย่างเดียว ไม่มีเงินฝากเลย แถมไปขอกู้ไม่ได้แล้ว ราคาข้าวตอนนี้เหลือ 6,000 บาทต่อตัน ถ้าต่ำกว่า 6,000 บาท คงแย่แน่ ไม่มีเงินเหลือจุนเจือครอบครัว

วอนรัฐช่วยตันละ 9,000-12,000

ที่ห้องประชุม 771 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าฯพิษณุโลก เป็นประธานประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามกำกับการดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด เพื่อเร่งแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เนื่องจากราคาข้าวขณะนี้ ข้าวขาวธรรมดา ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 7,300-7,500 บาท ขณะที่ความชื้น 20-25 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 6,000-6,500 บาท และในเดือนพ.ย. ข้าวหอมมะลิ กข 15 และ ข้าวหอมมะลิ 105 จะออกมาอีก 117,035 ตัน ในเดือนธ.ค.อีก 40,695 ตัน ซึ่งราคาดังกล่าว เกษตรกรอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือให้ราคาข้าวอยู่ที่ตันละ 9,000-12,000 บาท เพื่อให้อยู่ได้

รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมเสนอให้ข้าวขาวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่พิษณุโลก เข้าร่วมโครงการจำนำยุ้งฉาง ที่รัฐจะออกมาช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน 32 จังหวัด โดยให้เพิ่มจ.พิษณุโลกและพิจิตรร่วมเข้าไป จากนั้นเมื่อเข้าร่วมโครงการแล้วให้เสนอราคารับจำนำอยู่ที่ 9,000-12,000 บาท ต่อตัน และให้โรงสีดำเนินการอบ เก็บ รักษา ตันละ 1,500 บาท หรือ ให้เกษตรกรรวมกลุ่มหายุ้งฉางในการเก็บรักษา และจะนำข้อเสนอในที่ประชุมเสนอให้กับรัฐบาลรับทราบ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำให้กับเกษตรกรในจ.พิษณุโลกต่อไป

ผู้ว่าฯหลายจว.เร่งหาที่เก็บข้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนการแก้ปัญหานั้น ผู้ว่าฯจังหวัดต่างๆ อาทิ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ชัยนาท พิจิตร เพชรบูรณ์ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำ โดยให้นายอำเภอทุกคนชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ ถึงนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา ทั้งการประสานภาคเอกชนขอใช้โกดังเป็นที่เก็บข้าวให้กับชาวนา และผ่อนปรนค่าอบข้าว นอกจากนี้ที่จ.เพชรบูรณ์ ยังมีการเสนอให้นำข้าวเปลือกของเกษตรกรมาสีเป็นข้าวสารและขอความร่วมมือหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการภายในจังหวัดช่วยซื้อคนละ 5-10 ก.ก. พร้อมจัดตลาดนัดข้าวสารเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง จนกว่าสถานการณ์ราคาข้าวจะสู่เข้าสภาวะปกติหรือราคาข้าวเปลือกอยู่ในระดับที่เกษตรกรไม่ขาดทุน

ที่จ.นครราชสีมา ชาวนาหลายรายระบุถ้าเกี่ยวข้าวแล้วจะเก็บไว้ในยุ้งฉางก่อน จนกว่าราคาข้าวจะได้ตันละ 15,000 บาท เนื่องจากราคาข้าวเปลือกตกต่ำมาก เหลือกิโลกรัมละ 7-8 บาท ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ส่วนที่รัฐบาลเตรียมใช้มาตรการจำนำยุ้งฉางให้ราคาตันละ 10,000-11,000 บาทนั้น ชาวนาต่างระบุว่ายังถูกไป ต้องราคาตันละ 15,000 บาทจึงจะอยู่ได้

อ่างทองช้ำเร่งเกี่ยวหนีฝน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาบ้านโคกกลาง ต.คูเมือง อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ประสบปัญหาเดือดร้อนหนัก เนื่องจากโรงสีไม่รับซื้อข้าวเปลือกเกี่ยวสดที่ชาวนาขนใส่รถไปรอขาย อ้างว่ามีความชื้นสูง ทำให้ชาวนาต้องขนข้าวเปลือกกลับบ้านเพื่อนำมาตากให้แห้ง ก่อนนำกลับไปขายใหม่อีกรอบ ขณะที่ชาวนาบางรายชะลอนำข้าวเปลือกไปขาย เพราะได้ราคาต่ำเพียงกิโลกรัมละ 5-6 บาท หรือตันละ 5-6 พันบาท ซึ่งไม่อยู่ที่จุดคุ้มทุน จึงตากข้าวเก็บใส่ยุ้งไว้ก่อนเพื่อรอมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล

ส่วนที่จ.อ่างทอง ชาวนาในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ เร่งจ้างรถเกี่ยวข้าวลงเกี่ยวข้าวในนาเพื่อนำไปขายให้กับตลาดกลางค้าข้าว แม้ราคาจะอยู่ในสภาวะต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี แต่รอไม่ได้เนื่องจาก 1-2 วันที่ผ่านมามีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้นำท่วมขังในนาและอาจทำให้ข้าวเสียหาย จึงต้องเร่งเกี่ยวข้าวให้เสร็จ เพราะเกรงว่าจะมีฝนตกลงมาอีก

นพ.วรงค์อ้างอำนาจเก่าทับราคา

ด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะปฏิรูประบบข้าวของประเทศ ให้ชาวนาทำข้าวครบวงจร ปลูกเอง สีเอง ขายเอง โดยรัฐบาลใช้บริษัทประชารัฐเป็นแกนกลางทุกจังหวัด ไม่ต้องผ่านโรงสีใหญ่ เพราะมีโรงสีบางส่วนกำลังเล่นเกมร่วมกับกลุ่มอำนาจเก่าทุบราคาข้าว ตนขอเสนอว่า 1.ให้สหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มาลงทะเบียนกับบริษัทประชารัฐทุกจังหวัด พร้อมสีข้าวสารที่รับซื้อจากชาวนาที่เป็นสมาชิกในราคายุติธรรม โดยรัฐบาลให้แหล่งเงินทุนไม่คิดดอกเบี้ย และข้าวสารดังกล่าวส่งไปที่บริษัทประชารัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อการบริโภคภายในประเทศ

นพ.วรงค์กล่าวอีกว่า 2.บริษัทประชารัฐของจังหวัด จะเป็นแกนกลางรับคำสั่งซื้อข้าวสารของชาวนา จากส่วนราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน เทศบาล อบต. ร้านสะดวกซื้อ บริษัทห้างร้าน และ 3.ถ้ามีสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคในการสนับสนุนให้ชาวนาปลูกเอง สีเอง ขายเอง ให้ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหา

พท.เย้ยสมคบกดราคาทั้งปท.

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี รัฐบาลและคสช. ระบุราคาข้าวตกต่ำ เพราะฝีมือนักการเมืองร่วมกับโรงสี ช่วยกันกดราคาว่า ถือเป็นข่าวใหม่ เพราะคนในสังคมไทยไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน แสดงว่าถ้าราคาข้าวตกต่ำ เกิดจากการสมคบคิดกันระหว่างนักการเมืองกับโรงสี คงจะต้องสมคบกันทั้งประเทศ เพราะราคาข้าวที่ตกต่ำเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ รัฐบาลและคสช.มีเครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง แทรกซึมอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน น่าจะไม่ยากเกินไปที่จะเอาความจริงมาประจาน ว่ามีนักการเมืองคนใด พรรคใด หรือโรงสีใด ทำเรื่องเลวร้ายเช่นนี้

นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองที่เห็นใจชาวนา มุ่งคิดยุทธศาสตร์เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้ชาวนาได้ลืมตาอ้าปาก ที่สำคัญเป็นพรรคที่ทำโครงการจำนำข้าว และจากการสอบถามก็ไม่พบนักการเมืองคนใดของพรรคไปกระทำเช่นนั้น ก่อนโทษคนอื่น รัฐบาลควรไปตรวจสอบศักยภาพของรัฐมนตรี หรือหน่วยงาน ในกำกับของท่าน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่ามีความสามารถหรือศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลราคาข้าว เพื่อให้ความเป็นธรรมกับชาวนาได้หรือไม่ ไม่ใช่มีเหตุอะไรเกิดขึ้นก็โทษนักการเมืองไว้ก่อน เหมือนอย่างเช่น เหตุระเบิดราชประสงค์ เหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ก็โทษนักการเมือง พอราคาข้าวตกต่ำ ยังพยายามจะโทษนักการเมืองอีก ซึ่ง ไม่น่าจะใช่

สวนหมอวรงค์ระบุให้ชัด

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่ามีโรงสีร่วมกับกลุ่มอำนาจเก่าทุบราคาข้าวนั้น ต้องพิสูจน์และระบุให้ชัดๆ ว่า โรงสีชื่ออะไร กลุ่มอำนาจเก่าคือใคร อย่ากุข่าวใส่ร้ายคนอื่น พูดเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่นรายวัน ถ้าเก่งจริงก็ช่วยเสนอแนวคิดแก้ปัญหาให้ชาวนาดีกว่า อย่าเล่นการเมืองแบบเก่าที่ทำให้คนเบื่อหน่าย อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยขอเอาใจช่วยทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ชาวนาอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วน เพื่อให้ชาวนา กระดูกสันหลังของชาติ ได้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีต่อไป

นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ระบุมีนักการเมืองร่วมกับเจ้าของโรงสี ร่วมมือกันกดราคาข้าวชาวนาว่า ขอให้นายกฯ นับหนึ่งถึงสิบก่อนพูดแบบนั้น ขอเรียนว่าไม่ว่านักการเมืองพรรคไหน ก็ไม่อยากให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะนักการเมืองหาคะแนนความนิยมชมชอบจากชาวบ้าน มีแต่อยากให้ชาวบ้านรักทั้งนั้น

แนะใช้‘จำนำข้าว’ช่วย

นายสมคิดกล่าวต่อว่า วางนโยบายเรื่องข้าวไว้อย่างไร ผลก็ออกมาอย่างนั้น มันเป็นฝีมือบริหารจัดการของรัฐบาลนี้ล้วนๆ อย่าโยนฝั่งการเมือง นายกฯควรย้อนดูรายอะเอียดอีกครั้ง อย่ามีอคติกับนักการเมือง ไปดูว่าราคาตกต่ำเพราะอะไร ข้าราชการที่ให้อำนาจล้นเหลือจนต้องออก มาตรา 44 ให้จัดการเรื่องข้าว เดินหน้าถึงไหน ผู้ส่งออกที่อยากซื้อถูกๆ กดราคาข้าว ทำไมนายกฯ ไม่เอ่ยถึง ควรไปหาข้อบกพร่อง ควรรับผิดชอบทุกเรื่องเพราะเป็นผู้นำรัฐบาล ต้องกล้าเผชิญความจริงสมกับที่เป็นชายชาติทหาร

นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนากำลังจะตายแล้ว เพราะราคาข้าวตกต่ำมากเหลือเกิน ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์เร่งหามาตรการช่วยเหลือชาวนาโดยเร็วที่สุด จะใช้วิธีรับจำนำข้าวเหมือนกับรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ได้ เพราะมาตรการนี้จะช่วยให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น ทั้งนี้พล.อ. ประยุทธ์อย่ากลัวว่าจะถูกฟ้องเพื่อให้รับผิดทางละเมิดเหมือนกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ถูกฟ้องอยู่ขณะนี้ แต่หากรัฐบาลในอนาคตจะฟ้องเอาผิดพล.อ.ประยุทธ์บ้าง ขอให้พล.อ. ประยุทธ์เสียสละเพื่อช่วยเหลือชาวนาด้วย

ศอตช.แบ่งบี้3กลุ่มจำนำข้าว

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมตรวจสอบความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวอีกร้อยละ 80 หรือวงเงิน 1.42 แสนล้านบาท ตามมติครม. ว่า แบ่งกลุ่มผู้รับผิดชอบเป็น 3 กลุ่มคือ 1.รัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) 2.ข้าราชการในกระทรวง และ 3.ผู้ประกอบการเอกชน โดยตั้งคณะกรรมการอีก 2 ชุด รวบรวมข้อมูลและสืบสวน คาดว่าภายในวันที่ 15 พ.ย.นี้ จะได้ข้อสรุป และทราบชื่อบุคคลและหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของผู้รับผิดชอบกลุ่มครม.และคณะกรรมการในกขช. แม้จะเป็นบุคคลที่มีชื่อเป็นคณะกรรมการ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องร่วมรับผิดชอบในทางละเมิด แต่เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง ส่วนบุคคลใดต้องมีส่วนรับผิดชอบในทางละเมิดนั้น จะต้องมีพฤติกรรมกำกับด้วย

แหล่งข่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า กรณีป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 31 ราย กรณีซื้อขายมันสำปะหลัง (มันเส้น) ในรูปแบบสัญญาการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ โดยพบพฤติการณ์เบื้องต้นว่า เอกชนที่มาซื้อไม่ได้เป็นผู้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีนจริง แต่ผ่องถ่ายให้บริษัทในไทย ตรวจสอบพบว่ามีแคชเชียร์เช็คกว่า 2 พันใบที่ใช้ซื้อขายนั้น ขณะนี้คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้เพิ่มชื่อผู้ถูกกล่าวหาขึ้นอีกทั้งหมด 53 ราย มีทั้งอดีตข้าราชการ และกลุ่มเอกชน

มีชัยแจงร่างพรรคการเมือง

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวก่อนเป็นประธานประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า การตั้งสาขาพรรคแต่ละจังหวัดให้มีสมาชิกพรรค 500 คนตามเดิม ไม่ต้องตั้งสาขาพรรคให้ครบ 4 ภาคก็ได้ จังหวัดใดไม่ได้ตั้งสาขาพรรคก็ให้ตั้งตัวแทนพรรคได้ เพื่อจะได้มีส่วนร่วมประชุมใหญ่หรือหรือวางนโยบาย ส่วนคุณสมบัติกรรมการบริหารพรรคนั้น ต้องกำหนดให้คุณสมบัติเป็นไปในลักษณะเดียวกัน กับส.ส.

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ต้องมีคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยผู้บริหารพรรค ผู้แทนสาขาพรรค และตัวแทนพรรค ถ้าสรรหาเสร็จ แต่คณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นด้วย ต้องนำกลับไปให้กรรมการสรรหาพิจารณาอีกครั้ง แต่หากกรรมการสรรหายังยืนยันตามเดิมไม่เปลี่ยน กรธ.คิดว่าจะกำหนดให้งดส่ง ผู้สมัครในเขตนั้น หรือจะให้เรียกประชุมใหญ่พรรค สำหรับการเปิดเผยรายชื่อผู้บริจาคเงินให้พรรค จะแยกเป็น 2 ส่วน คือกรณีจัดงานระดมทุน หากใครที่ให้เงินพรรคมากกว่า 1 แสนบาท จะต้องเปิดเผยชื่อ ส่วนการบริจาค ถ้ามากกว่า 5 พันบาทก็ต้องเปิดชื่อเช่นกัน

โวยส.ส.บิดเบือนอีก

เมื่อถามว่าหากร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะต้องยกเลิกมาตรา 44 เพื่อเปิดทางให้พรรคประชุม กำหนดโครงสร้างพรรคตามกฎหมายพรรคฉบับใหม่หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า กำลังดูว่าอะไรบ้างที่ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้พรรคดำเนินกิจกรรมได้ ส่วนการปรับแก้คำปรารภในร่างรัฐธรรมนูญ ครม.จะหารือกันในวันที่ 1 พ.ย.ก่อนส่งกลับมาให้กรธ.ปรับแก้

นายมีชัยกล่าวด้วยว่า มีเรื่องหนึ่งหากไม่พูดคงไม่ได้ กรณีอดีตส.ส.คนหนึ่งพูดว่า “ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปแล้ว มีบทบัญญัติว่าราคาผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นไปตามกลไกตลาด ใครจะไปช่วยเกษตรกรไม่ได้ จำนำข้าวก็ไม่ได้ ประกันราคาข้าวก็ไม่ได้” นั้น เป็นความเท็จ ตั้งใจหลอกลวงชาวบ้านให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ใช้คำว่ากลไกตลาดสักคำ โดยเขียนว่า “ให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลเกษตรกรเรื่องต้นทุน ผลผลิต และการตลาด” เพื่อให้เขาสามารถแข่งขันได้ แทนที่จะไปพึ่งพากลไกตลาด แต่ตนจะไม่ฟ้องร้องทางคดี ฟ้องแค่ประชาชนรับทราบก็พอแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน