เปิดเกณฑ์ล่าสุด ดิจิทัลวอลเล็ต ตัดอีก มีเงินฝาก เกิน 5 แสนก่อน 31 มี.ค.67 ชวดเงินหมื่น พร้อมใช้ฐานภาษีปี 66 คัดเกณฑ์ เป็นเกณฑ์ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน

วันที่ 8 พ.ค.2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ที่ประชุมได้สรุปกำหนดกรอบเวลาสำหรับผู้ที่จะได้รับสิทธิ 10,000 บาท โดยตามเงื่อนไข ต้องมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 2567 และกำหนดกรอบสำหรับผู้ที่มีอายุ 16 ปี ที่จะได้รับสิทธิตามโครงการ จะต้องไม่เกินวันที่ 30 ก.ย. 2567 หรือวันสุดท้ายของการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ

ขณะเดียวกำหนดจะใช้ฐานข้อมูลภาษีปี 2566 เป็นเกณฑ์ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี ที่จะเข้าร่วมโครงการ

สำหรับเงินฝาก 500,000 บาท ประกอบด้วย เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับเงินฝาก และรวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากชื่ออื่นที่มีลักษณะเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว

โดยเงินฝากดังกล่าวให้หมายถึงเฉพาะเงินฝากในสกุลเงินบาทเท่านั้น โดยเป็นการรวมทุกบัญชีรวมกันในสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ด้านการยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ (Negative List) ยังไม่ได้มีการพิจารณาเพิ่มเติม และเงื่อนไขทุกอย่างในโครงการยังคงเหมือนเดิม ซึ่งกำหนดลงทะเบียนในไตรมาส 3/2567

“จะมีการนัดประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยในการประชุมวันนี้มีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก อย่างกรณีประชาชนที่อายุ 16 ปี ที่ผู้ปกครองมีการออมเงินให้อย่างต่อเนื่อง จนมีเงินฝากในบัญชีรวมกันเกิน 5 แสนบาทนั้น ก็ถือว่าเป็นคนมีฐานะ ตรงนี้ก็ต้องตัดออก” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ให้ข้อเสนอแนะในการประชุมครั้งนี้ด้วยว่า เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันกลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีความจำเป็น และนโยบายหลักของรัฐบาลในการแก้ปัญหาให้ประชาชนในขณะนี้ คือ การเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

พร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในหลายประเด็นเกี่ยวกับโครงการ โดยเน้นย้ำให้การดำเนินโครงการต้องเป็นไปอย่างปลอดภัย และป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้เงินผิดประเภทด้วย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า การประชุมวันนี้ส่วนใหญ่เป็นการหารือในเรื่องระบบ และเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้โครงการดำเนินต่อไปได้ เช่น เรื่องการยืนยันตัวตนจะเชื่อมอย่างไร ตัดสิทธิที่วันไหน เรื่องเงินฝากตัดวันไหน รวมอะไรบ้าง

รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในโครงการ อาทิ การเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากร กรมการปกครอง เป็นต้น เพื่อหาข้อสรุปและดำเนินการต่อ

”แอพพลิเคชันที่จะใช้ในโครงการ กระบวนการยังดำเนินต่อเนื่อง ต้องมีการทำข้อตกลงกับหลายหน่วยงาน เช่น การตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินฝาก ต้องหารือกันว่าจะเชื่อมถังข้อมูลอย่างไร ใครรับผิดชอบส่วนไหน โดยเบื้องต้นจะใช้แอพพลิเคชันทางรัฐในการเชื่อมโยงข้อมูล” นายเผ่าภูมิ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน