ตามที่กรมประมง และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แถลงข่าวร่วมกัน ยืนยันว่าปลาลิ้นหมา จำนวน 130 กิโลกรัม ที่มีการนำเข้ามาจากเมืองฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา มีการนำเข้าอย่างถูกต้องเป็นไปตามข้อกำหนดประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีกระบวนการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ด่านประมงที่เข้มงวด และไร้การปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี หลังจากที่มีการเผยแพร่ข่าวจากสำนักข่าวชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น ที่ระบุว่ามีการส่งออกสินค้าประมงจากเมืองฟูกุชิมะหลังโรงไฟฟ้าปรมาณูระเบิด เมื่อ 7 ปีที่แล้ว มายังร้านอาหารในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศแรกในการนำเข้า และเว็บไซต์ต่างๆ ได้มีกระแสให้ระวังอาหารทะเลที่มาจากประเทศญี่ปุ่นที่อาจปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี สร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคในประเทศไทยนั้น

นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากกรณีการนำเข้าปลาดังกล่าวมาในประเทศไทย ทำให้เกิดกระแสความไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยอาหารของผู้บริโภคถึงแม้ว่าจะมีการยืนยันจากทาง อย.แล้วว่าไร้สารกัมมันตรังสีตกค้างแน่นอน โดยเมื่อวันที่ 9 มี.ค. บริษัทผู้นำเข้าได้แจ้งให้กรมประมงทราบว่าจะมีการนำเข้าสัตว์น้ำจากฟุกุชิมะ ประกอบด้วยปลา Flounder จำนวน 27.5 กิโลกรัม และ Sole 4.5 กิโลกรัม กรมจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์น้ำกรมประมง ประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างสินค้าในล็อตดังกล่าวส่งให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ตรวจสอบ และขอความร่วมมือกับบริษัทผู้นำเข้าอย่าเพิ่งกระจายสินค้าทั้งหมด ขอให้เก็บไว้ก่อนจนกว่าผลการตรวจสอบทางวิชาการจะออก ซึ่งเมื่อวันที่ 12 มี.ค. กรมประมง ได้รับการแจ้งยืนยันจากทาง ปส. ว่าผลการตรวจสอบสินค้าดังกล่าวนั้น พบว่า I-131 Cs-134 และ Cs-137 มีปริมาณต่ำกว่าค่าขีดจำกัดของเครื่องมือที่ใช้วัดซึ่งมีค่าในช่วง 0.39 – 0.77 เบคคอเรลต่อกิโลกรัม ยกเว้น Sole ซึ่งพบ Cs-137 ในปริมาณ 0.86+0.31 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารปนเปื้อนค่ามาตรฐาน Cesium คือ ไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนด 128 (พ.ศ.2554)

นอกจากนี้ ทางสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับระบบการตรวจสารกัมมันตรังสีในสินค้าประมงของเมืองฟุกุชิมะ ว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อปี 2554 ประเทศญี่ปุ่นมีการมอบหมายให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้ตรวจสารฯ ตามแนวปฏิบัติในการวางแผนการตรวจ การกำหนด/ยกเลิกชนิดและแหล่งผลิตของสินค้าที่ห้ามออกสู่ตลาด ที่กำหนดโดยศูนย์บัญชาการรับมือภัยพิบัตินิวเคลียที่มีนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ ซึ่งมีการกำหนดตรวจสินค้าทุกสัปดาห์ โดยญี่ปุ่นมีการกำหนดค่ามาตรฐาน Cesium สำหรับอาหารทั่วไปไว้ที่ 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ CODEX กำหนด (1,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม) แต่หากมีการตรวจพบเกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม จังหวัดจะระงับการส่งสินค้าออกสู่ตลาดทันที และหากพบค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดในหลายพื้นที่พร้อมกันนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเป็นผู้สั่งห้ามส่งสินค้าออกสู่ตลาด ซึ่งที่ผ่านมา การตรวจสินค้า ตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ฟุกุชิมะ เมื่อปี 2554 ในช่วง 3 เดือนแรก พบปลากว่า 50 % มีค่า Cesium เกินมาตรฐาน และลดจำนวนลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อช่วงเดือนเม.ย. 2555 จังหวัดฟุกุชิมะได้ประกาศยืนยันรายการสินค้าประมงที่ได้ผ่านการตรวจปลอดภัยทั้งหมด อีกทั้ง ยังเพิ่มระดับความเข้มข้นในการกำหนดค่ามาตรฐานเป็น 50 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัมด้วย หากตรวจพบว่าเกินจะระงับการส่งปลาชนิดนั้นออกสู่ตลาดทันที ซึ่งชนิดปลาที่ส่งมายังประเทศไทยนั้น ก็เป็นชนิดที่อยู่ในรายการยืนยันความปลอดภัยด้วย อีกทั้ง ข้อมูลจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ที่ได้ดำเนินโครงการทดสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าฟูชิมะ ระหว่างปี 2557 – 2559 ก็สรุปได้ว่าข้อมูลและผลการทดสอบของประเทศญี่ปุ่นมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ จึงเห็นได้ว่าสินค้าประมงที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย การนำเข้าสินค้าประมงจากทุกประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นที่จะยกระดับความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญกับความเข้มงวดในกระบวนการตรวจสอบและการอนุญาตให้นำเข้าอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารและหลักเกณฑ์การนำเข้าสินค้าประมงตามประกาศกรมประมงด้วยเช่นกัน โดยจะมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย.กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการกำกับดูแลตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหารร่วมกัน จึงขอให้ผู้บริโภคอย่ากังวลกับข่าวที่เกิดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน