กำลังเข้มข้นสำหรับละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่ตอนนี้คนกำลังติดและอินตามกันทั้งบ้านทั้งเมือง ตามมาด้วยการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้การดูละครมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะตัวละครอิงประวัติศาสตร์คนสำคัญอย่าง ‘เจ้าพระยาวิชเยนทร์’ หรือ ‘คอนสแตนติน ฟอลคอน’ เสนาบดีต่างชาติในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ถือเป็นอีกคนสำคัญในละครเรื่องนี้

สำหรับ ‘ฟอลคอน’ เป็นชาวกรีกจากเกาะเซฟาโลเนีย ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐเวนิสในยุคนั้น ก่อนได้มาทำงานอยู่ในสยาม และเนื่องจากฟอลคอนสามารถปรับตัวและพูดภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ได้เข้ามาทำงานรับใช้สมเด็จพระนารายณ์ ก่อนได้รับความไว้ใจและแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนไทย ซึ่งส่งให้เกิดผลเสียต่อตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์เองในเวลาต่อมา

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรหนักใกล้สวรรคต ก็มีข่าวลือว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ต้องการใช้องค์รัชทายาทเป็นหุ่นเชิดและเข้ามาเป็นผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาเสียเอง ซึ่งแม้เหตุดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็เป็นข้ออ้างให้พระเพทราชา ซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่พอใจกับนโยบายด้านต่างประเทศที่ส่งผลให้มีชาวต่างชาติมาอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากมาย วางแผนให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปประทับที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ในลพบุรี และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้ไว้ใจมอบอำนาจการสำเร็จราชการแผ่นดินให้พระเพทราชาในพ.ศ.2231

หลังจากพระเพทราชากุมอำนาจการสำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ก็จับกุมเจ้าพระยาวิชเยนทร์และผู้ติดตามรวมถึงราชนิกุลองค์ต่างๆ และนำไปประหารชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2231 ในวัยเพียง 40 ปี เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทราบถึงเหตุดังกล่าว พระองค์ทรงกริ้วมาก แต่ไม่มีพระวรกายแข็งแรงเพียงพอที่จะทำการใดๆ และเสด็จสวรรคตในอีกไม่กี่วันต่อมา

บรรดาขุนนางได้อัญเชิญพระเพทราชา ขึ้นครองราชย์โดยการปราบดาภิเษก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม หรือสมเด็จพระเพทราชา และปกครองโดยมีนโยบายต่อต้านชาวต่างชาติ ส่งผลให้เกิดการขับไล่ชาวต่างชาติแทบทั้งหมดออกจากราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา การตีความกันไปต่างๆ นานาถึงเหตุจูงใจที่ทำให้สมเด็จพระเพทราชาสั่งจับกุมและประหารชีวิตเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นผลให้จุดยืนของกรีกในประวัติศาสตร์ไทยเป็นเรื่องที่ยังหาข้อสรุปมิได้

นักประวัติศาสตร์ที่เห็นด้วยกับการกระทำของพระองค์มองเจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่าเป็นชาวต่างชาติที่ฉวยโอกาสมาใช้อิทธิพลเข้าควบคุมราชอาณาจักรในนามของผลประโยชน์จากชาติตะวันตก แต่นักประวัติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นแพะรับบาป เป็นช่องว่างให้สมเด็จพระเพทราชาสามารถเข้ายึดอำนาจจากองค์รัชทายาทได้ โดยนำเอาความริษยาและความระแวงที่มีต่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์มาเป็นมูลเหตุสนับสนุน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน