กระแสแรงไม่มีตกสำหรับละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ซึ่งล่าสุดเดินทางมาถึงตอนที่คณะทูตสยามเยือนฝรั่งเศสในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งในฉากละครตอนหนึ่งหลังจากที่ขุนศรีวิสารวาจากลับมาถึงบ้านก็ได้พบกับครอบครัว รวมถึงแม่หญิงการะเกดด้วย นอกจากนี้ ขุนศรีวิสารวาจาได้สอบถามอาการป่วยของออกญาโหราธิบดี ผู้เป็นพ่อ ก่อนที่ออกญาโหราธิบดีจะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ขุนศรีวิสารวาจาเดินทางไปเยือนฝรั่งเศส ว่าเกิดกบฏมักกะสันของพวกแขกจาม ก็ได้พระยาวิชัยเยน หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นผู้ปราบจนราบคราบ กระทั่ง คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือออกพระฤทธิ์กําแหง ได้รับการอวยยศจากพระนารายณ์เป็น เจ้าพระยาวิชาเยนทร์

ซึ่งหลายคนอาจอยากทราบรายละเอียดว่าเหตุการณ์ “กบฏมักกะสัน” เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง และ “พวกแขกจาม” คือใคร ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยาถือเป็นเมืองการค้าสำคัญที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในภูมิภาค ทำให้ชาวต่างชาติเดินทางมาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก

เดิมทีในช่วงต้นรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กลุ่มขุนนางชาวต่างชาติที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดเป็นกลุ่ม ‘ชาวเปอร์เซีย’ ที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ขั้วอำนาจในราชสำนักก็เปลี่ยนไป เมื่อขุนนางชาวกรีก ‘คอนสแตนติน ฟอลคอน’ ได้รับตำแหน่งเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ทำให้อำนาจของชาวเปอร์เซีย รวมทั้งกลุ่มมุสลิมอื่นๆ เสื่อมถอยลง

การสูญเสียอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ขุนนางชาวมุสลิมไม่พอใจเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ซึ่งบางกลุ่มถึงขั้นพาลโกรธสมเด็จพระนารายณ์ไปด้วยที่ไม่ทรงโปรดปรานพวกตนเช่นเดิม

ขุนนางมุสลิมกลุ่มหนึ่งจึงวางแผนโค่นบัลลังก์จากสมเด็จพระนารายณ์ โดยยืมมือนักรบชาว ‘มากัสซาร์’ หรือที่ชาวอยุธยาในสมัยนั้นเรียกกันว่า ‘พวกมักกะสัน’ ให้เป็นผู้ลงมือก่อกบฏ

วันก่อนเกิดเหตุ ได้มีแขกจามคนหนึ่ง แอบส่งจดหมายไปหาพี่ชายของตนที่เป็นทหารรักษาพระองค์ที่เมืองละโว้ให้หนีกลับมาสมทบกับกลุ่มก่อกบฏ แต่พี่ชายของเขากลับไม่เห็นด้วย เนื่องจากความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระนารายณ์ จึงนำความไปแจ้งแก่ฟอลคอน ฟอลคอนจึงนำความของชายคนดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูลแก่สมเด็จพระนารายณ์

สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดให้นำตัวหัวหน้ากบฏมักกะสันมาไต่ถาม ซึ่งสันนิษฐานว่าตัวการใหญ่อาจเป็นขุนนางชั้นสูงของไทยที่ไม่ชอบฟอลคอน ร่วมมือกับขุนนางมุสลิม และพ่อค้าอินเดีย

กบฏมักกะสันลงมือก่อกบฏขึ้น 2 แห่งคือ ในเมืองอยุธยา และเมืองบางกอก บริเวณป้อมวิไชยประสิทธิ์หรือป้อมวิชาเยนทร์ ซึ่งก่อเหตุครั้งแรกในวันที่ 22 ส.ค. พ.ศ.2229

Image/komkid.com/นักรบมากัสซาร์

ทางฟอลคอนที่ทราบข่าวล่วงหน้า ได้เตรียมระดมพลไว้ก่อน โดยมีชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศสคอยให้การสนับสนุน ทำให้ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา มีอาวุธที่ทันสมัยกว่าเข้าต่อสู้กับกลุ่มกบฏ แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะกบฏมักกะสันที่มีความเชี่ยวชาญในการรบได้ ทำให้ทหารฝ่ายไทยเสียชีวิตไปหลายคน ซึ่งแม้แต่ฟอลคอนเองก็เกือบเอาชีวิตไม่รอด

ในการรบครั้งที่ 2 ฟอลคอนจึงระดมทหารจำนวน 20,000 นาย ไปบุกกวาดล้างกลุ่มกบฏ ซึ่งกลุ่มกบฏก็แสร้งทำเป็นตื่นตกใจ หลอกให้กองทหารฝ่ายไทยแยกเป็นกลุ่มเล็กๆ ก่อนที่แขกมักกะสันจะเข้าสู้ ทำให้ฟอลคอนพ่ายแพ้อีกเป็นครั้งที่ 2

Image/komkid.com/คอนสแตนติน ฟอลคอน

เดือนต่อมาในวันที่ 14 ก.ย พ.ศ.2229 ฟอลคอนได้ยกกำลังไปปิดล้อมหมู่บ้านกบฏมักกะสันอีกเป็นครั้งที่ 3 ในครั้งนี้กลุ่มสนับสนุนชาวยุโรปและทหารไทย ยกกำลังปืนใหญ่และธนูเพลิง ยิงเข้าไปเผาหมู่บ้านกบฏ ทำให้ไฟครอกตายเป็นจำนวนมาก ฟอลคอนจึงใช้ความได้เปรียบด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่เหมาะสมกับจุดยุทธศาสตร์ทางการรบและเครื่องมือแบบพิเศษจากตะวันตกให้เป็นประโยชน์ จนสามารถปราบพวกกบฏมักกะสันได้สำเร็จ

ส่วนกบฏมักกะสันที่เหลือรอดจากสนามรบ ฟอลคอนได้สั่งให้มัดไว้กับกางเขนก่อนจะปล่อยให้เสือเข้ามากัดกินทั้งเป็น และสั่งลงโทษทหารไทยบางกลุ่ม ที่หนีจากการปฏิบัติหน้าที่ในวันก่อกบฏ โดยการตอกเศษไม้เข้าเล็บ ทุบนิ้วมือจนแตก ใช้ไฟจี้ที่แขน และบีบขมับด้วยกระดานสองแผ่นประกบกัน แต่บางคนก็ถูกนำไปโยนให้เสือกินเช่นเดียวกับพวกกบฏ

ข้อมูลอ้างอิงจาก : komkid.com และ gotoknow.org

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน