หน้าร้อนระวัง เตือนภัย! พนักงาน หยิบ ‘ขวดน้ำอัดลม’ ใส่กล่องน้ำแข็ง ระเบิดคามือ เศษแก้วพุ่งบาดนิ้วเย็บ 3 เข็ม แพทย์แนะวิธีป้องกัน
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์คลิปวิดีโอลงในกลุ่ม พวกเราคือผู้บริโภค ซึ่งคลิปวิดีโอดังกล่าวเผยให้เห็นพนักงาน 2 คนกำลังนำขวดน้ำอัดลมที่จัดวางอยู่ใต้โต๊ะค่อย ๆ บรรจงเรียงลงในกล่องน้ำแข็ง
จู่ ๆ ขวดน้ำอัดลมขวดหนึ่งก็เกิดระเบิดขึ้นทันที ทำให้ทุกคนในร้านต่างพากันตกใจ งานนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย
โดยโพสต์ดังกล่าวระบุข้อความว่า “เตือนภัย! น้ำอัดลมขวดแก้วขวดใหญ่ขนาด 1 ลิตร ระเบิดภายในร้านเสียงดัง เศษแก้วบาดนิ้วเย็บ 3 เข็ม และเศษแก้วบาดบริเวณแขนหลายจุด บางส่วนกระเด็นโดนลูกค้าที่นั่งทานอาหารอยู่ อันตรายมาก ไม่ทราบสาเหตุการระเบิด อยากเตือนเพื่อน ๆ ในกลุ่ม
1.อากาศภายในร้านไม่ร้อน มีพัดลมหลายจุด บรรยากาศถ่ายเท ไม่ตั้งน้ำอัดลมตากแดด (ตั้งอยู่ใต้ถังน้ำแข็งอากาศค่อนข้างเย็น มีน้ำเย็น ๆ หยด ๆ )
2.ไม่มีการกระแทกจากร้าน ขวดวางเรียงแนวตั้งรอแช่
3.น้ำอัดลมไม่ได้เย็นจัด จนระเบิด เพราะไม่ได้แช่
4.ไม่ใช่ขวดค้างนาน เพิ่งสั่งจากเซลส์ 1-2 วันเท่านั้น
ขวดแก้วหนามาก แปลกใจทำไมระเบิด.. ฟาดเคราะห์ไม่โดนลูกตา แต่บาดตามแขนหลายแผล พนักงานในร้านเป็นคนโดน รีบพาไป รพ.ใกล้บ้าน”
เมื่อโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก อาทิ
- จากใจร้านขายส่ง อากาศร้อนค่ะ หากวางกระแทก (เช่น หยิบมาวางบนโต๊ะ) ก็จะทำให้ระเบิดได้ค่ะ น้ำอัดลม มีแก๊ส เวลาระเบิด เศษแก้วจะกระเด็นได้ไกลกว่าที่คิดค่ะ
- น่าจะร้อนแล้วแช่ในน้ำแข็งเลยรึป่าว
- ร้อนเจอเย็น
- อากาศร้อนครับ หมายถึงอุณหภูมิมันสูง บางร้านจะวางใกล้ถังน้ำแข็ง หรือมีราดน้ำลดอุณหภูมิได้ พวกยิ่งโซดาถ้าเก็บในห้องชั้น 2 ระเบิดง่าย ๆ เลย
- ขวดแก้วระเบิดได้ค่ะ อากาศร้อนค่ะที่ทำให้ระเบิด
นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี เคยให้สัมภาษณ์ผ่าน สสส. ระบุว่า น้ำอัดลม เป็นเครื่องดื่มที่ประชาชนนิยมดื่มในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน เครื่องดื่มประเภทนี้ จะอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในขวด เพื่อให้มีความซ่า เพิ่มความสดชื่นแก่ร่างกาย
เมื่อขวดน้ำอัดลมถูกแดดหรืออยู่ในอากาศที่ร้อนจัด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในขวดจะขยายตัว ดันฝาขวดและขวดแก้วแตก โดยเฉพาะโซดาจะมีปริมาตรก๊าซสูงกว่าน้ำอัดลมชนิดอื่น ๆ จึงมีโอกาสเสี่ยงเกิดการระเบิดได้ง่ายกว่าด้วย
โดยหากฝาจีบปิดขวดหรือเศษแก้วที่แตก กระเด็นใส่หน้า ถูกดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญและมีความบอบบางมาก หากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง มีบาดแผลที่ตาดำ หรือมีเลือดออกในช่องหน้าม่านตา อาจทำให้ตาบอดได้ หรืออาจระเบิดระหว่างเปิดฝาขวดใส่มือ ทำให้เกิดบาดแผล หรือนิ้วมือขาดได้เช่นกัน
ผู้ที่มีความเสี่ยงถูกแรงระเบิดจากขวดน้ำอัดลม ได้แก่
- พนักงานในโรงงานผลิตน้ำอัดลมหรือโซดาบรรจุขวดแก้ว
- พ่อค้า แม่ค้าร้านขายของชำ รถเร่
- ประชาชนที่นิยมดื่มน้ำอัดลม
นายแพทย์ฐาปนวงศ์กล่าวต่อไปว่า วิธีการป้องกันอันตรายดังกล่าว มีข้อแนะนำดังนี้
1.ในกลุ่มพนักงาน โรงงานผลิตน้ำอัดลมชนิดบรรจุในขวดแก้ว ฝาจีบ
- ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะขณะเข็นรถขนย้ายลังบรรจุ ต้องระวังอย่าให้เกิดการกระแทก ควรใช้กระสอบป่านหรือผ้าหนาๆ คลุมบนลังน้ำอัดลมไว้ เพื่อป้องกันขวดหรือฝาจีบกระเด็นใส่หากขวดระเบิด
2.กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าร้านขายของชำ และประชาชนทั่วไป
- ให้เก็บวางลังน้ำอัดลมไว้ในที่ร่ม
- ในการแช่น้ำอัดลมขวดแก้วในตู้เย็นที่เย็นจัด ให้วางลักษณะตั้งขวด แต่หากวางขวดในลักษณะนอน ขอให้หันด้านที่มีฝาขวดไว้ด้านใน หันก้นขวดออกด้านนอก และไม่ควรแช่น้ำอัดลมในช่องแช่แข็งเป็นเวลานาน เนื่องจากความเย็นจะทำให้น้ำเกิดการแข็งตัวและขนาดใหญ่ขึ้น ขณะที่ขวดมีขนาดเท่าเดิม ทำให้เหลือพื้นที่ว่างน้อยลง ก๊าซจะอัดตัวกันแน่นขึ้น แรงดันภายในขวดสูง ทำให้ขวดระเบิดออก
นอกจากนี้ ขอแนะนำว่า ในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าว อย่าเปิดฝาขวดโดยใช้มือหรือใช้ฝาขวด 2 ขวดมางัดกัน และอย่าเปิดฝาทันที เพราะอาจทำให้ฝาขวดกระเด็นโดนตา มือ หรืออวัยวะอื่นๆ จนเกิดการบาดเจ็บได้
วิธีที่ดีที่สุด คือ ให้ใช้อุปกรณ์เปิดขวด ก่อนเปิดให้ใช้ผ้าขนหนูพันที่เปิดขวด และค่อย ๆ เปิดฝาขวดทีละน้อย เพื่อให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ค่อย ๆ ไหลออกมา ลดแรงดันของก๊าซในขวดลงก่อน นายแพทย์ฐาปนวงศ์กล่าว
ที่มา : สสส.