ทำความรู้จัก และ ย้อนเส้นทางชีวิต “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เจ้าของฉายา แมว 9 ชีวิต กับเส้นทางราชการที่ต้องฝ่าด่านมรสุมชีวิตสุดพลิกผัน
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 นาทีนี้คงไม่มีอะไรร้อนแรงไปกว่า เรื่องราวของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” กับมรสุมชีวิตในเส้นทางราชการ
วันนี้ ข่าวสดออนไลน์ พาทุกคนย้อนเส้นทางชีวิตสุดพลิกผันของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล
ประวัติ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล
- บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล
- เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2513 ที่ จังหวัดสงขลา
- เป็นบุตรของดาบตำรวจ ไสว หักพาล และนางสุมิตรา หักพาล
- สมรสกับ ดร.ศิรินัดดา (สกุลเดิม พานิชพงษ์)
ประวัติการศึกษา “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล
- นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 31
- เคยติดทีมชาติเทนนิสรุ่นเยาวชน และนำทีมสถาบันชนะเลิศกีฬา 4 เหล่าทัพ
- ปริญญาตรี สำเร็จการศึกษา คณะรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 47
- ปริญญาโท สำเร็จการศึกษา คณะสังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม (สศ.ม.) มหาวิทยาลัยมหิดล
- ปริญญาเอก สำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
ประวัติ การรับราชการ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล
- เริ่มรับราชการตำรวจ ในปี 2537 ตำแหน่งรองสารวัตร
- ปี 2543 สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 จ.เชียงใหม่
- ปี 2545 สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 จ.ชลบุรี
- ปี 2546 ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ
- ปี 2547 ผู้ช่วยนายเวรตำรวจราชสำนักประจำให้กับ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี
- ได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พ.ต.อ. ได้รับตำแหน่งผู้กำกับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่อำนวยการประจำผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- ปี 2552 เป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์
- ปี 2554 เป็นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 10 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
- ปี 2555 เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จนได้เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สงขลา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการณ์ตำรวจภูธร จ.สงขลาส่วนหน้า รับผิดชอบพื้นที่ 4 อำเภอ ใน จ.สงขลา ที่เป็นพื้นที่สีแดงเสี่ยงต่อภัยความไม่สงบบริเวณชายแดนภาคใต้
- ปี 2558 เป็นผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานกับนายกรัฐมนตรี รายงานต่อ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น
- ปี 2558 เป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว
- ปี 2559 เป็นผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ
- ปี 2560 รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จนได้เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
เส้นทางฝ่าด่านมรสุมชีวิตสุดพลิกผัน “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล
เส้นทางการทำงานของ ร.ต.ต.สุรเชษฐ์ เป็นรองสารวัตร ตั้งแต่ 1 ก.พ.2537 เป็นรองสารวัตรได้ 6 ปี 1 เดือน ได้ขึ้นเป็นสารวัตร และเป็นสารวัตรได้ 4 ปี 8 เดือน ขยับเป็นรองผู้กำกับการ เป็นรองผู้กำกับการอยู่ 4 ปี จากนั้นขยับเป็นผู้กำกับการ ติดยศ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้เป็น ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จ.สงขลา โรงพักเกรดเอ โดยขณะนั้น พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9)
พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นผู้กำกับการอยู่ได้ 4 ปี 1 เดือน จึงขยับเป็นรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) ได้เป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สงขลา และยังเป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธร จ.สงขลา ส่วนหน้า ดูแลพื้นที่ อ.จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา จ.สงขลา 4 อำเภอพื้นที่สีแดงในพื้นที่ต่อเนื่องจังหวัดชายแดนใต้ การอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้รับสิทธินับอายุราชการแบบทวีคูณ แม้อายุยังน้อยแต่อายุงานเพิ่มความอาวุโส ทำให้ก้าวขึ้นเป็น พล.ต.ต. ขณะอายุไม่ถึง 45 ปี
- ปี 2558
23 ก.ค.2558 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ได้เป็นผู้บังคับการ ประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าประสานนายกรัฐมนตรี ในยุคของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยทำหน้าที่นายตำรวจประสานงานใกล้ชิด บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลรับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นขยับเป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ในปี 2558
- ปี 2559
กระทั่งปี 2559 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ขยับขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191 และปี 2560 ซึ่งอาวุโสอยู่ในลำดับที่ 76 ได้รับการเสนอชื่อจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผบ.ตร. ขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) และโยกมานั่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (รอง ผบช.ทท.) และในที่สุดขยับขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการอายุน้อย ติดยศ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ด้วยวัยเพียง 48 ปี เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการสีกากี
“บิ๊กโจ๊ก” กลายเป็นนายตำรวจหนุ่มเนื้อหอมและถูกกล่าวถึงมากที่สุด เพราะในวงการรู้ดีว่าเป็นผู้ใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” และบทบาทหน้าที่ค่อนข้างโดดเด่น แต่เส้นทางบนถนนสีกากีต้องมาสะดุดลง โดยเมื่อ 6 เม.ย.2562 ถูกคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาคาร 1 ชั้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม
- ปี 2562
กระทั่ง วันที่ 9 เม.ย.2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะจะกลับมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษสบ 9 ขึ้นผู้ช่วย ผบ.ตร และ รองผบ.ตร. ตามลำดับ
ทั้งนี้ บิ๊กโจ๊ก ได้ดูแลคดีดังๆมากมาย ทั้งคดีเว็บพนันใหญ่ๆ และทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมทั้งล่าสุดยังเข้ามาดูแลทำคดีกำนันนก ซึ่งเกี่ยวโยงกับหลายขบวนการด้วย ก่อนช็อกวงการกับเหตุการณ์ถูกบุกค้นบ้านเช้านี้
- ปี 2566
เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ได้เกิดเหตุการณ์ตำรวจคอมมานโดพร้อมด้วยหน่วยปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเข้าบุกค้นบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และแจ้งจับลูกน้องอีก 8 นาย กล่าวหาพัวพันกับผู้ต้องหาพนันออนไลน์รายหนึ่ง
- ปี 2567
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เข้ายื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายจับกลุ่มตำรวจ 4 นาย และพลเรือน 1 คน พัวพันการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนัน BNK MASTER
โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อยู่ด้วย ให้ออกเป็นหมายเรียกให้มารับทราบข้อหาที่ สน.เตาปูน กรุงเทพมหานคร
- ปี 2567
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 67 มีคำสั่งให้ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย
วันที่ 6 ส.ค.2567 คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. วินิจฉัยว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เม.ย.2567 เป็นคำสั่งที่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่กฎหมาย และ กฎ ก.ตร. กำหนด และเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย วินิจฉัยยกอุทธรณ์และยกคำขอกำหนดวิธีการชั่วคราวของผู้อุทธรณ์
หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร. มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด โดยวิธีการยื่นฟ้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาล หรือยื่นฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยนี้