ไอลอว์ ยกเคสถูกแคปแชท แจ้ง ม.112 บางรายติดคุกหลายปี ไม่ได้ประกัน ก่อนศาลยกฟ้อง หลังพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นส่งข้อความ
วันที่ 20 ม.ค. 2568 ภายหลัง นายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือทนายเดชา ได้ออกมาเปิดเผยว่า หญิงสาวที่เป็นคู่กรณีของ แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข นักร้องชื่อดัง ได้แจ้งให้ดำเนินคดีกับ แสตมป์ ในความผิดมาตรา 112 เนื่องจากมีหลักฐานจากการแชทสนทนาพาดพิงสถาบัน
ด้าน iLaw หรือ ไอลอว์ (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงการดำเนินคดีมาตรา 112 ในลักษณะดังกล่าว พร้อมยกกรณีที่มีคนถูกแจ้งความดำเนินคดีและถูกจำคุกหลายปี แต่ต่อมาศาลยกฟ้อง
โดยระบุว่า การคุยกันในแชทส่วนตัว แล้วสามารถ “แคป” เพื่อนำไปใช้ดำเนินคดี #มาตรา112 ได้จริงหรือไม่? คำตอบคือ ทำได้จริง มีคนเคยติดคุกจริง แต่หลักฐานเพียงภาพแคปอาจไม่เพียงพอ
มาตรา 112 หรือกฎหมายฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เขียนว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
ซึ่งกลายเป็นกฎหมายที่นำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงออกทางการเมือง และผู้ชุมนุมทางการเมืองจำนวนมาก บางครั้งก็ถูกนำมาใช้ “ใส่ร้าย” กันระหว่างคนที่มีปัญหาส่วนตัว ทำให้ต้องเผชิญกับโทษหนักและการเข้าเรือนจำ
การกระทำที่เข้าลักษณะ #หมิ่นประมาท คือใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ในประการที่จะทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หากประชาชนสองคนพูดคุยกันด้วยเนื้อหาที่อาจทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียงก็เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ได้
โดยไม่แยกแยะว่าเป็นการคุยกันต่อหน้าหรือการคุยกันผ่านช่องแชท ผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ก็เป็นความผิดได้ แต่โดยส่วนใหญ่หากคุยกันแค่สองคน และไม่มีใครนำข้อมูลไปเปิดเผยให้เจ้าหน้าที่รัฐก็ยากที่จะมีการดำเนินคดีเกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้มีคดีมาตรา 112 ที่เกิดจากการคุยกันในช่องแชท อย่างน้อย 4 คดี ซึ่งล้วนเกิดขึ้นในยุครัฐบาล #คสช จากการรัฐประหาร ดังนี้
1.บุรินทร์
บุรินทร์ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่า แชทคุยกันกับพัฒน์นรี มีข้อความว่า “อยู่ยากจริงๆ บ้านเมืองทุกวันนี้” มันจะยากยิ่งกว่านี้เพราะตอนนี้เขากำลัง….” และข้อความอื่นๆ อีกเกี่ยวกับการแย่งชิงราชบัลลังก์ และนอกจากการแชทยังมีการโพสข้อความบนเฟซบุ๊กด้วย ซึ่งเขาถูกจับกุมและถูกยึดโทรศัพท์ทำให้ตำรวจมีหลักฐานจากการเข้าถึงกล่องสนทนาของเขาได้
ศาลทหารพิพากษาว่าบุรินทร์มีความผิด 2 กรรม กรรมแรก คือ การโต้ตอบกันในกล่องสนทนา ลงโทษจำคุก 7 ปี เนื่องจากเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษมาไม่ถึงห้าปี จึงให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 รวมเป็นจำคุก 9 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน
กรรมที่สอง ลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 ปี 8 เดือน รวมทั้งสองกรรมแล้วบุรินทร์จะต้องรับโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือน https://www.ilaw.or.th/articles/case/23531
2.พัฒน์นรี
พัฒน์นรี หรือแม่ของ “นิว” ถูกกล่าวหาว่า คุยกับบุรินทร์ในกล่องสนทนาส่วนตัวของเฟซบุ๊ก หลังบุรินทร์สนทนาในลักษณะที่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พัฒน์นรีตอบรับว่า “จ้า” ในเชิงรับทราบ คาดการณ์ว่า ตำรวจมีหลักฐานการสนทนานี้จากการจับกุมบุรินทร์ที่เกิดขึ้นก่อน ทำให้พัฒน์นรีถูกจับกุมภายหลัง
ในชั้นศาลพัฒน์นรีให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดีว่าการพูดว่า “จ้า” นั้นเป็นเพียงเพื่อการตัดบทสนทนา ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วย คดีนี้โอนกลับมาที่ศาลปกติ และศาลพิพากษายกฟ้อง https://www.ilaw.or.th/articles/case/23851
3. ณัฏฐธิดา
ณัฏฐธิดา หรือแหวน พยาบาลอาสา ถูกจับกุมในเดือนมีนาคม 2558 ถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ว่า “ใครก่อความรุนแรง…ไม่ดีเลย แน่จริงต้องเอาไปชั้น 16 xxxโน่น” ลงในกลุ่มแชทชื่อ “DPN & เพื่อนเม้า” และถูกคุมขังในเรือนจำโดยไม่ได้ประกันตัว
ในชั้นศาลณัฏฐธิดา ให้การปฏิเสธว่าไม่เคยส่งข้อความดังกล่าว และไม่รู้จักกลุ่มแชทที่ถูกกล่าวหา ซึ่งทางฝ่ายทหารที่กล่าวหา และตำรวจที่ดำเนินคดี มีเพียงภาพหนึ่งภาพจากการ “แคปแชท” ดังกล่าวที่ปริ้นท์ลงบนแผ่นกระดาษและนำมาเสนอต่อศาล
โดยตำรวจเบิกความว่าได้ภาพดังกล่าวมาจากทหาร แต่ไม่รู้ว่าทหารคนใดเป็นคน “แคป” ภาพมา ซึ้งณัฏฐธิดา บอกว่าเธอถูกใส่ร้ายจากบทบาทของเธอที่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่ถูกกระสุนทหารยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม
ช่วงแรกหลังถูกจับ ภายใต้ศาลทหารณัฏฐธิดาไม่ได้ประกันตัว ก่อนคดีโอนมาที่ศาลปกติ และศาลพิพากษายกฟ้อง กว่าจะถึงวันที่ได้ผลคำพิพากษาเธออยู่ในเรือนจำนานกว่า 3 ปี 6 เดือน https://www.ilaw.or.th/articles/case/23953
4. สุริยศักดิ์
สุริยศักดิ์ อดีตแกนนำนปช.สุรินทร์ ถูกจับกุมเมื่อเดือนมีนาคม 2560 สุริยศักดิ์ถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ ชื่อกลุ่มว่า “คนนอกกะลา” ด้วยไลน์บัญชีชื่อ “Suriyasak” ซึ่งมีรูปโปรไฟล์เป็นรูปของสุริยศักดิ์ ในทำนองโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ และคดีของเขาต้องขึ้นศาลทหาร เขาปฏิเสธว่า ก่อนถูกจับกุมไม่เคยใช้ไลน์เพราะไม่ถนัดเทคโนโลยี โดยเชื่อว่าการดำเนินคดีนี้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่ถูกจับกุม
ช่วงแรกหลังถูกจับ ภายใต้ศาลทหารสุริยศักดิ์ไม่ได้รับการประกันตัว ก่อนคดีโอนมาที่ศาลปกติ และศาลพิพากษายกฟ้อง ทั้งชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ โดยเขาต้องถูกคุมขังในเรือนจำไปแล้วเกือบสองปี https://www.ilaw.or.th/articles/case/23873
คดีของบุรินทร์และพัฒน์นรี แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารและช่องทางการสื่อสารส่วนตัวในระหว่างที่กระบวนการดำเนินคดีทางการเมืองอยู่ภายใต้อำนาจของทหาร และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และการหยิบเอาเนื้อหาเหล่านั้นมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินคดีคนที่ต่อต้านอำนาจของ คสช.
คดีของณัฏฐธิดา และสุริยศักดิ์ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันที่จำเลยมีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองชัดเจน ก่อนถูกจับกุมแบบ “ล็อตใหญ่” และตั้งข้อหาจากการแชทข้อความผ่านไลน์ ซึ่งมีหลักฐานเพียงการ “แคปแชท” ซึ่งหลักฐานนี้เมื่อนำส่งศาลเป็นภาพปริ้นท์บนกระดาษก็เป็นหลักฐานชั้นรองที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจถูกปลอมแปลงขึ้นได้ง่าย
เมื่อไม่มีพยานมายืนยันต่อศาลว่า เคยพบเห็นข้อความดังกล่าวจริง และรู้ว่าใครเป็นคนส่งจริงๆ ศาลก็พิพากษายกฟ้อง แต่ทั้งสองคดีมีลักษณะเหมือนกันที่เมื่อถูกจับด้วยข้อหามาตรา 112 ภายใต้การเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร จำเลยไม่ได้รับประกันตัว จึงต้องถูกคุมขังเป็นเวลานาน ก่อนที่จะได้คำพิพากษายกฟ้องโดยศาลปกติในภายหลัง
ยังไม่มีตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นจริง แต่หากมีการสนทนาในกล่องข้อความส่วนตัว แล้วคนที่คุยกัน “แคปแชท” นำมาเป็นหลักฐานดำเนินคดี โดยคนที่แคปนั้นมาเบิกความต่อศาลยืนยันได้ว่า เป็นคนแคปข้อความดังกล่าวมาจริง สามารถเปิดข้อความในระบบคอมพิวเตอร์แสดงให้ศาลดูได้ และสามารถยืนยันได้ว่า คนที่ส่งข้อความคือจำเลยจริงๆ ศาลก็สามารถพิพากษาลงโทษได้