เปิดชื่อ 16 บอร์ดแพทย์ประกันสังคม วาระ 2 ปี เพิ่มสิทธิรักษาโรคไต มะเร็ง วัณโรค Sleep TEST หมดวาระ 27 ก.พ.นี้

จากกรณี น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม. พรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีขอให้มีการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดแพทย์) กองทุนประกันสังคม รวมถึงบทบาทและหน้าที่ในการทำงานนั้น

วันที่ 20 ก.พ.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดแพทย์) กองทุนประกันสังคม ประกอบด้วย

1.พล.ต.ท.นพ.ธนา ธุระเจน ประธานกรรมการ
2.นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ กรรมการ
3.นายณรงค์ฤทธิ์ พานิชชีวะ กรรมการ
4.นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร กรรมการ
5.ผศ.(พิเศษ) นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ กรรมการ
6.นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ กรรมการ
7.รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม กรรมการ
8.รศ.นพ.พิสิษฐ์ พิริยาพรรณ กรรมการ
9.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง กรรมการ
10.นายวชิรวิทย์ บุญเติม กรรมการ
11.รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี กรรมการ
12.รศ.นพ.ศุภชัย รัตนมณีฉัตร กรรมการ
13.ศ.คลินิก นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา กรรมการ
14.นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ กรรมการ
15.พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ กรรมการ
16.ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม กรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้ บอร์ดแพทย์แต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการการแพทย์” ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่เกิน 16 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี จะหมดวาระวันที่ 27 ก.พ.นี้

โดยบอร์ดชุดนี้ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2566 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558

ก่อนหน้านี้ นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการ สปส. กล่าวถึงการดำรงตำแหน่ง รวมถึงผลงานในการปฏิบัติหน้าที่ของบอร์ดแพทย์ กองทุนประกันสังคม ว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ซึ่งมีผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้แทนผู้ประกันตนเข้าร่วมเป็นกรรมการ โดยบอร์ดแพทย์ชุดปัจจุบัน เป็นชุดที่ 16 ที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของบอร์ดแพทย์ กองทุนประกันสังคมได้พัฒนาแนวทางการจัดระบบบริการทางการแพทย์ และปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อสร้างความมั่นคงให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนี้

1. ด้านยกระดับและพัฒนาบริการทางการแพทย์ อาทิ

-โครงการ SSO 515 โดยการบันทึกข้อตกลงร่วมกับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ ยกระดับการรักษา 5 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง นิ่วในไตและถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่มดลูกหรือรังไข่ ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ที่โรงพยาบาลกว่า 76 แห่ง

-เพิ่มสิทธิผู้ป่วยโรคไต สามารถฟอกไตด้วยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis : APD) รวมถึงการปรับหลักเกณฑ์ การเตรียมหลอดเลือดหรือสายสวนหลอดเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยไม่ต้องสำรองจ่าย

-เพิ่มสิทธิการตรวจคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค และการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ด้วยวิธี Molecular assay ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง และสนับสนุนค่ายาสำหรับการรักษาผู้ประกันตนที่ติดเชื้อวัณโรคดื้อยา

-เพิ่มสิทธิการตรวจ Sleep TEST และการรักษาด้วยเครื่อง CPAP ประกอบด้วย ค่าตรวจการนอนหลับเท่าที่จ่ายจริง ค่าเครื่องอัดอากาศหายใจเข้าเท่าที่จ่ายจริง และค่าหน้ากากครอบจมูก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกันตน ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยป้องกันหรือควบคุมความดันในโลหิตสูง

-เพิ่มการรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ 3 รายการ ได้แก่ รายการกะโหลกศีรษะเทียม การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยพลาสมาคุณภาพสูง (Plasma Rich Growth Factor (PRGF)) และการผ่าตัดใส่ลูกตา

-เพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็ง ตามโครงการ SSO cancer care รวมถึงรวมถึงการสนับสนุนค่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ

2. ด้านส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของผู้ประกันตน
-บันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิที่มากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงรายการและขยายช่วงอายุ เพิ่มความถี่และรายการตรวจสุขภาพ

-เพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพจากรายการตรวจพื้นฐาน 14 รายการรวมถึงขยายสิทธิให้สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้แก่ผู้ประกันตนสำหรับผู้ประกันตนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม ยังได้พิจารณาปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์รายการอื่นๆ เช่น การปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน การเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อการเข้าถึงยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน