เปิดไทม์ไลน์ พระราม 2 ถล่ม โครงสร้างคานของทางยกระดับพิเศษ สายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนด้านตะวันตก ขณะนี้ยังไมทราบสาเหตุ แนะเลี่ยงเส้นทางจราจร

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 เกิดเหตุโครงสร้างที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างสะพานทางยกระดับชั้นที่ 2 ของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เกิดการทรุดตัวลงมา บริเวณใกล้เคียงซอยพระรามที่ 2 ซอย 25 ถนนพระราม 2 แขวงบางมด เขตจอมทอง กทม. ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจาก สะพานทศมราชัน คู่ขนานสะพานพระราม 9 ทำให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต

ตามรายงานของศูนย์วิทยุพระราม 199 เวลา 01.48 น. ได้รับแจ้งจากสายด่วน 199 เหตุสะพานอยู่ระหว่างการก่อสร้างทรุดตัว ใกล้เคียงซอยพระรามที่ 2 ซอย 25 ถนนพระรามที่ 2 แขวงบางมดเขตจอมทอง เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยจอมทอง กำลังไปที่เกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุ

เวลา 02.01 น. เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยจอมทอง ถึงที่เกิดเหตุ: ลักษณะที่เกิดเหตุ เป็นตอม่อสะพานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มต่อเนื่องเป็นทางยาวตั้งแต่ ซอย 17 ถึง 25 ในที่เกิดเหตุ มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ยังไม่ยืนยันข้อมูลว่ากี่ราย เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการค้นหา รถชุดปฎิบัติการกู้ภัยและช่วยชีวิตจากอาคารถล่มของสำนักป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ( USAR ) สนับสนุนที่เกิดเหตุ

เวลา 02.05 น. รับแจ้งขณะนี้ได้ช่วยเหลือ ผู้ได้รับบาดเจ็บออกมาได้ 5 ราย อาสาสมัครมูลนิธินำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง

เวลา 02.17 น. ในที่เกิดเหตุเป็นการเทคานทางด่วน มีพนักงานปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 20 ราย ขณะนี้สามารถช่วยเหลือออกมาได้ จำนวน 5 ราย นำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง อยู่ระหว่างค้นหาเพิ่มเติม

เวลา 02.27 น. พบผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย บนตอม่อสะพาน อยู่ระหว่างให้การช่วยเหลือ

เวลา 02.30 น. ทีม USAR และเจ้าหน้าที่ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดตั้งจุดบัญชาการ เหตุการณ์ ในที่เกิดเหตุ และในที่เกิดเหตุสายไฟฟ้าขาด ประสานเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวง เข้าร่วมดำเนินการ

เวลา 02.50 น. เจ้าหน้าที่ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้นำรถเครนและกระเช้าขึ้นช่วยเหลือผู้ติดค้างบนยอดตอม่อ จำนวน 2 ราย

เวลา 02.52 น. ได้ทำการช่วยเหลือผู้ติดค้างบนตอม่อ จำนวน 4 ราย เป็นชาวต่างด้าว ชาย 2 ราย หญิง 2 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย นำลงมาสู่ที่ปลอดภัย อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รับดำเนินการต่อ

เวลา 03.01 น. เบื้องต้นได้ทำการช่วยเหลือผู้ติดค้างและได้รับบาดเจ็บออกมาได้จำนวน 16 ราย ชาย 12 ราย หญิง 4 ราย พบมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และรับแจ้งเพิ่มเติมยังมีผู้ติดค้างอีก จำนวน 27 ราย

เวลา 03.09 น. ได้ช่วยเหลือผู้ติดค้างออกมาเพิ่มอีก 4 ราย เป็นชาย 2 ราย หญิง 2 ราย (รวมทั้งหมดขณะนี้ช่วยเหลือผู้ติดค้างออกมาได้จำนวน 20 ราย)

เวลา 03.16 น. จากการค้นหาโซน A พบผู้เสียชีวิต อีก 1 ราย ค้นหาโซน D พบผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย

เวลา 03.29 น. จากการค้นหาพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม จำนวน 1 ราย

เวลา 06.10 น. เจ้าหน้าที่ได้ทำการเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิตออกจากจุดเกิดเหตุได้บางส่วน ขณะนี้ยังไม่พบผู้เสียชีวิต หรือผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่ม ยังคงทำการค้นหาโดยละเอียดอย่างต่อเนื่อง และมีสุนัขตำรวจ K-9 เข้าร่วมดำเนินการค้นหา

เวลา 08.00 น. ได้รับแจ้งจากกระทรวงคมนาคมว่าล่าสุดนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำลังเดินทางไปที่เกิดเหตุเครนทรุดพระราม 2

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ขอแจ้งปิดทางขึ้น-ลง ทางพิเศษเฉลิมมหานครชั่วคราว เนื่องจากเกิดเหตุโครงสร้างที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเกิดการทรุดตัว บริเวณหน้าด่านฯ ดาวคะนอง พื้นที่การก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 3

ขอแจ้งประชาชนที่ต้องการขึ้นทางด่วนเพื่อเข้าเมือง ขอให้ขับรถมุ่งหน้าไปแยกบางประแก้วและใช้ถนนสุขสวัสดิ์ เพื่อไปใช้ด่านฯ สุขสวัสดิ์แทน และประชาชนที่จะเดินทางมุ่งหน้าไปสมุทรสาคร โดยใช้สะพานพระราม 9 ให้ลงทางออกถนนสุขสวัสดิ์แทน เพื่อมุ่งหน้าไปถนนพระราม 2 กทพ. ขออภัยในความไม่สะดวก

เวลา 10.28 น. เจ้าหน้าที่ได้นำร่างผู้เสียชีวิตรายที่ 5 ออกมาจากแผ่นเหล็กและคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ทับร่างอยู่ ก่อนนำร่างผู้เสียชีวิตส่งแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลศิริราช เพื่อชันสูตรพลิกศพสาเหตุของการเสียชีวิต

รายชื่อผู้เสียชีวิต 5 ราย ประกอบด้วย

  1. นายนราธร เยือกเย็น อายุ 39 ปี ชาวจ.ปทุมธานี เป็นวิศวกร
  2. นายรุจธร หาระสา อายุ 47 ปี ชาว จ.นครราชสีมา หัวหน้าควบคุมงาน
  3. นายสิทธิชัย เกษร ชาว จ.นนทบุรี คนงาน
  4. นายซิน กู ออง (Zin Ku Aung) ชาวเมียนมา
  5. นาย ลิน ออง (Naing Lin Aung) ชาวเมียนมา

เวลา 11.00 น. รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบ ก่อนจะเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพที่เกิดเหตุและสภาพแวดล้อมโดยรอบ และจากที่ได้รับรายงานว่าขั้นตอนในการเทคอนกรีตบนพื้นทางด่วนชั้นสูงนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ตอนนี้จึงคาดการณ์สาเหตุเบื้องต้นว่า ตัวรับพื้นปลายทางคือตัวโครงเหล็กที่เป็นแม่แบบ หรือ Temporary Structure มีปัญหาในการขยับตัว ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของดิน ทำให้การรับน้ำหนักปูนกว่า 10 ตัน เกิดการเอียง จนตัวแม่แบบหลุดออกมาและถล่ม

รศ.สิริวัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่แท้จริงจะต้องรอให้เจ้าหน้าที่เคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อยก่อน แล้วเข้าสำรวจโดยละเอียดอีกครั้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน