ทำความรู้จักโรคตาในเด็กที่พบบ่อย อาการและการรักษา ผู้ปกครองอย่าชะล่าใจ ส่งผลต่อการเรียนรู้-พัฒนาการของเด็ก

ดวงตา ถือเป็นอวัยวะสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและพัฒนาการของลูกน้อย เพราะเด็กอาจยังไม่เข้าใจถึงสัญญาณเตือนของโรคได้ด้วยตนเอง ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสังเกตสุขภาพของดวงตาลูกอย่างสม่ำเสมอ หากสามารถตรวจพบสัญญาณของโรคตาในเด็กได้แต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถรักษาหายได้อย่างทันท่วงที

ตาเหล่

อาการ มีสองลักษณะ คือ “ตาเหล่เข้า” (ตาที่เหล่เข้ามาใกล้จมูกมากกว่าปกติ) และ “ตาเหล่ออก” (ตาที่เหล่ออกมาใกล้หางตามากกว่าปกติ)

สาเหตุ เกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา หรืออาจเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุได้ด้วย

การรักษา เด็กตาเหล่จะไม่สามารถหายได้เอง และต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว เนื่องจากอาการตาเหล่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางตาอื่น ๆ เช่น โรคสายตาขี้เกียจในเด็ก ภาวะสูญเสียการมองเห็นภาพสามมิติ รวมถึงเกิดเป็นปมด้อยของเด็กได้อีกด้วย ซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค ได้แก่การใส่แว่นตา การฝึกกล้ามเนื้อตา หรือแม้แต่การผ่าตัด

โรคตาขี้เกียจในเด็ก

อาการ สภาวะที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างมองเห็นภาพไม่ชัด เนื่องจากมีปัจจัยที่ทำให้ตาข้างนั้น ๆ มีพัฒนาการน้อย หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่วัยเด็ก อาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นในระยะยาว

สาเหตุ

  • สายตา 2 ข้างไม่เท่ากัน เด็กจึงใช้เฉพาะตาข้างที่มองเห็นชัดกว่า ทำให้ดวงตาอีกข้างเกิดภาวะตาขี้เกียจในเด็ก
  • ตาเหล่ เด็กตาเหล่จะใช้ตาทีละข้างในการมองเห็น หรือใช้ตาข้างที่ถนัดเพียงข้างเดียว
  • มีปัญหาในตาข้างใดข้างหนึ่ง เช่น หนังตาตกมากจนปิดตา หรือเป็นต้อกระจกข้างเดียว

การรักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจ เช่น ถ้าสายตา 2 ข้างไม่เท่ากัน จักษุแพทย์จะพิจารณาให้ใส่แว่นสายตาตามค่าสายตาของเด็กก่อน หากอาการตาข้างใดข้างหนึ่งไม่ดีขึ้น จักษุแพทย์จะใช้วิธีปิดตาข้างที่ดี หรือใช้ยาหยอดตาเพื่อให้สายตามัวลง เพื่อฝึกให้เด็กใช้ตาข้างที่มีปัญหา กระตุ้นพัฒนาการการมองเห็น

สายตาสั้น

อาการ หากสังเกตพฤติกรรมได้ว่าเด็กมีการหยีตามอง เอียงคอมอง ชอบดูอะไรใกล้ ๆ หรือปวดตา ก็อาจเป็นสัญญาณว่าเด็กมองเห็นไม่ชัดได้

สาเหตุ สามารถเกิดได้ทั้งจากกรรมพันธุ์และพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีพฤติกรรมการใช้สายตามองใกล้เป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือ ดูแท็บเล็ต

การรักษา ขึ้นอยู่กับความรุนแรง เด็กที่มีสายตาสั้นเพียงเล็กน้อยอาจไม่ต้องรักษา แต่ต้องได้รับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ สำหรับเด็กที่มีสายตาสั้นมากจนมีผลต่อการมองเห็น จำเป็นต้องใส่แว่นเพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ป้องกันการเกิดภาวะอื่น ๆ ตามมา และควรพามาตรวจตากับจักษุแพทย์เฉพาะทางโรคตาเด็กเป็นประจำ

การป้องกันโรคตาในเด็กตั้งแต่เนิ่นๆ

  • ให้อ่านหนังสือและทำกิจกรรมในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ
  • ไม่นอนอ่านหนังสือ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงจะบังคับให้หน้าใกล้กับหนังสือมากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อตาใช้งานมากกว่าปกติ
  • ไม่เล่นเกมหรืออ่านหนังสือบนรถ เนื่องจากการสั่นสะเทือนจะทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานมากกว่าปกติ
  • ปรับแสงของหน้าจออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสม ไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป
  • ไม่ควรให้เล่นเกม ดูทีวี หรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกเป็นเวลานาน
  • ควรให้เด็กบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพตา เช่น ผักใบเขียวและผลไม้ที่มีวิตามินเอ วิตามินซี และโอเมก้า-3 ซึ่งช่วยในการพัฒนาการของดวงตา
  • ให้เด็กมีเวลาพักสายตาหลังจากการใช้สายตาเป็นเวลานาน โดยการมองไกล ๆ ประมาณ 20 ฟุต ทุก ๆ 20 นาที และการหมั่นกระพริบตาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา

ขอเชิญชวนตรวจสุขภาพตา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ ‘เครือมติชน’ ผนึกกำลังกับ ‘โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน’ จัดงาน ‘Healthcare Mini สุขภาพดี ที่ประชาชื่น’ โดยเปิดบริการตรวจสุขภาพตาะกลุ่มโรคทั่วไปให้กับคนในชุมชน ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ภายในงานมีบริการอัดแน่น อาทิ ตรวจคัดกรองผู้เข้าร่วม, โครงการผ่าตัดต้อกระจกฟรี, เวทีทอล์กโดยจักษุแพทย์ แชร์ความรู้-ประสบการณ์เกี่ยวกับสุขภาพดวงตา และยังแจกแว่นตาอ่านหนังสือ 400 อัน พร้อมหนังสือคู่มือดูแลดวงตาฟรี

นอกจากนี้ ยังมีบริการตรวจสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมาย พร้อมเวิร์กช็อปแสนสนุกจากสมุนไพรใกล้ตัว บอกเลยว่ามางานนี้ทั้งสุขภาพดีและได้ของมีประโยชน์กลับบ้านเต็มกระเป๋า

เจอกันที่งาน ‘Healthcare Mini สุขภาพดี ที่ประชาชื่น’ ในวันที่ 30-31 มีนาคมนี้ เวลา 08.00-18.00น ที่ มติชน อคาเดมี สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดงลงสถานีวัดเสมียนนารี ทางออก 1 จะมีบริการรถรับส่ง แล้วมาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ

ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลจักษุรัตนิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน