คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซีเมมเบอร์ชาวไทย เปิดเผยว่า สำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชน หรือยูธโอลิมปิกเกมส์ มีเงื่อนไขและข้อบังคับน้อยกว่าการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยหลังจากที่กรุงเทพฯ ของประเทศไทย เคยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชนในปี 2010 แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ โดยในครั้งนั้น ประเทศสิงคโปร์ ได้รับการเลือกให้เป็นเจ้าภาพ ปัทมาคิดว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะลองเสนอตัวเป็นเจ้าภาพอีกครั้งสำหรับการแข่งขันในปี 2026 ในสมัยของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ

หากได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ปัทมาคิดว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในหลายด้าน นอกจากการโปรโมทความสำคัญของกีฬาโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน เรายังมีโอกาสส่งเสริมนักกีฬาเยาวชนให้พัฒนาฝีมือต่อเนื่องจนสามารถ ผ่านรอบคัดเลือกไปแข่งขันโอลิมปิกได้ในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะจะมีคนจากหลายประเทศเดินทางมาประเทศไทย

“ในปี 2010 มีนักกีฬาเข้าร่วม 3,524 คน ในปี 2014 ที่เมืองนานจิง ประเทศจีน มีนักกีฬาเข้าร่วม 3,579 คน และปีนี้ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า ตัวเลขประมาณการของจำนวนนักกีฬาคือ 3,998 คน จะเห็นได้ว่าในการแข่งขันแต่ละครั้งมีจำนวนนักกีฬาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขในปีนี้ ถ้าหากไทยสามารถเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2026 ได้ ปัทมาคิดว่าจำนวนนักกีฬาอาจมีถึง 4 พันกว่าคน ถ้าหากรวมจำนวนโค้ช เจ้าหน้าที่ กองเชียร์ ผู้เข้าชมการแข่งขัน ปัทมาคิดว่าจะมีคนเดินทางมาประเทศไทยในช่วงนั้นหลายหมื่นคน”

ไอโอซีเมมเบอร์หญิงของไทย กล่าวต่อว่า โดยทั่วไป ไอโอซี จะมีจดหมายแจ้งมายังคณะกรรมการโอลิมปิก หรือเอ็นโอซี ของแต่ละประเทศ เรื่องการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และเอ็นโอซี ที่สนใจก็ส่งชื่อเมืองที่มีความประสงค์จะเป็นเจ้าภาพกลับไปยังไอโอซี จากนั้นไอโอซี จะประกาศว่าได้รับใบสมัครมาทั้งหมดเท่าไหร่

สำหรับขั้นตอนหลัก ๆ ของการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ แบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกคือขั้นตอนการเตรียมตัว หรือ Preparation Stage ในช่วงนี้เมืองที่เอ็นโอซี เสนอชื่อไปจะได้รับการบรรยายสรุปทาง video conference หรือ conference call

ช่วงที่ 2 คือขั้นตอนการเจรจา หรือ Dialogue Stage ในช่วงนี้เมืองที่สนใจจะต้องเซ็นสัญญาความร่วมมือ แต่สัญญานี้ไม่ได้ผูกมัดว่าเมืองที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจะต้องจัดการแข่งขัน ทุกเมืองที่สนใจต้องส่งข้อมูลสำหรับการเก็บข้อมูลครั้งแรก และไอโอซี จะไปเยี่ยมแต่ละเมืองที่เสนอตัว หลังจากนั้นทีมงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำ feasibility report รายงานความเป็นไปได้ของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันของเมืองนั้น ๆ สุดท้ายไอโอซี จะส่งเทียบเชิญให้เมืองที่มีศักยภาพในการจัดการแข่งขันเข้าสู่ขั้นตอนถัดไป

ช่วงที่ 3 คือขั้นตอนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ หรือ Candidature Process ในช่วงนี้จะมีการทำงานที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างไอโอซี และเมืองที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ไอโอซี จะไปเยี่ยมเมืองที่มีศักยภาพในการจัดการแข่งขันอีกครั้ง และจัดประชุมหารือกับเมืองนั้น ๆ จากนั้นไอโอซี จะเสนอโครงร่างแผนการทำงาน โดยทำร่วมกับเมืองที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ แต่ละเมืองต้องส่งข้อมูลตามที่ถูกขอ โดยระหว่างนี้จะมีการหารือเพื่อติดตามผลกับแต่ละเมืองโดยการประชุมทางไกล เมื่อการลงพื้นที่เสร็จเรียบร้อยและได้รับข้อมูลครบถ้วน จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการประเมินผล (Evaluation Commission Meeting) และจะมีรายงานจากคณะกรรมาธิการประเมินผล (Evaluation Commission Report) ออกมาว่าแต่ละเมืองเป็นอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการบริหารของไอโอซี จะเสนอชื่อเมืองที่มีศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันต่อไอโอซีเมมเบอร์ โดยดูจากรายงานนี้

และขั้นตอนสุดท้าย คือ การเลือกเมืองเจ้าภาพในที่ประชุมใหญ่ไอโอซี และเมืองที่ถูกเลือกจะเซ็นสัญญาเป็นเจ้าภาพ (Host Contract)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน