เสียงล้อพลาสติกบดพื้นถนน ดังกึกก้องไปตามเส้นทางเล็ก ๆ ในเมืองฮานิว จังหวัดไซตามะ เจ้าภาพการแข่งขันเก้าอี้สำนักงาน หรือ “Isu-1 Grand Prix” ซึ่งเป็นการแข่งขันวัดใจ วัดความอึด ที่จัดกันมานานกว่า 10 ปี โดยได้แรงบันดาลใจจากการแข่งรถสูตรหนึ่ง ผสมกับการแข่งแบบเอนดูแรนซ์ กติกาคือ ในเวลาสองชั่วโมง ใครสามารถจบรอบ 200 เมตรได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ

เกาะติดข่าวกีฬา แค่กดติดตาม ไลน์@ข่าวสดกีฬา ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

การไถเก้าอี้ไปข้างหลังถือเป็นเทคนิคสากลที่นักแข่งส่วนใหญ่ชอบใช้กัน โดยสมาชิกในทีมทั้งสามคน จะหมุนเวียนในระหว่างการแข่งขันสไตล์เลอม็อง เพื่อพยายามรักษาความสดใหม่ของร่างกาย แต่ในช่วงฤดูร้อนที่มีความชื้นสูง ก็ทำให้การแข่งขันดูหฤโหดแม้แต่กับทีมที่ฝึกซ้อมมาอย่างดี หรือบรรดาทีมประสบการณ์สูงหลายทีม

Racers take part in the office chair ISU-1 Grand Prix series. Photo: REUTERS/Issei Kato

ศึกไถเก้าอี้เริ่มครั้งแรกที่เกียวโตเมื่อปี 2009 โดย สึโยชิ ทาฮาระ (Tsuyoshi Tahara) กับไอเดียนึกสนุกแบบเด็ก ๆ ในช่วงต้น ก่อนขยายกลายเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ได้รับความนิยมระดับประเทศ

“ผมปิ๊งไอเดียมาจากตอนได้เห็นการแข่งขันรถสามล้อถีบของเด็ก ที่แข่งกันแบบเอนดูแรนซ์ครับ ผมเลยปรับมาใช้เก้าอี้ติดล้อแทน แล้วให้แข่งแบบทีมละสามคน ให้เวลาทั้งสิ้น 2 ชั่วโมง คือ…ผมอยากสร้างการแข่งที่ไม่เคยมีใครคิดขึ้นมาก่อนอ่ะครับ”

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า การแข่งสไตล์ ทาฮาระ เกิดโด่งดังสุดๆ มีทีมเข้าร่วมมากถึง 55 ทีม โดยในการแข่งที่ฮานิวปีนี้ ทีมชนะเลิศมาจากเกียวโต มีชื่อทีมว่า Kitsugawa Unyu โดยพวกเขา ขนเก้าอี้กันมาเองจากเกียวโต เพื่อเข้าแข่งขันโดยเฉพาะ (น่าจะโมดิฟายด์มาอย่างดี – ผู้แปล)

ด้านรางวัลที่มอบแก่ผู้ชนะคือ ข้าวสารท้องถิ่นจำนวน 90 กิโลกรัม !

Racers react during ISU-1 Hanyu Grand Prix, while taking part in the office chair race ISU-1 Grand Prix series, in Hanyu, north of Tokyo, Japan, June 9, 2019. REUTERS/Issei Kato

หลังสิ้นสุดการแข่งขัน บรรดา “นักซิ่งเก้าอี้สำนักงาน” ต่างหมดสิ้นแรงกาย…แต่แรงใจล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความอิ่มเอิบ…แห่งการปลดปล่อย

“ผมโดนหลอกให้มาแข่งครับ! (ฮา)” ซาโตรุ ทากูชิ (Satoru Taguchi) วัย 45 ปีปล่อยมุกตลกเฮฮา พร้อมเล่าว่า ทีมของเขามาจากการรวมตัวของคุณพ่อที่ลูก ๆ เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน หลังไปรับ-ส่งลูกจนรู้จักกันดี จึงชวนกันมาแข่งขันกระชับสัมพันธ์ “ตอนนี้ผมโคตรเหนื่อยเลยครับ แต่ก็สนุกสุด ๆ”

ด้าน มายุ เนกิชิ (Mayu Negishi) อายุ 18 ปี ซึ่งยังมีแรงเหลือเต้นรำตามเสียงเพลงในช่วงพิธีปิดการแข่งขัน กล่าวว่า “คนดูจำนวนมากคอยส่งเสียงเชียร์พวกเรา โดยเฉพาะตอนเข้าโค้ง ฮ่า ๆ ๆ พวกเราทุกคนสนิทกันมากเลย เหมือนเพื่อนฝูง, ครอบครัวขนาดใหญ่ มีทั้งแฟน ๆ และคนดูที่คอยสนับสนุนการแข่งขัน”

Isu Grand Prix ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในจังหวัด อิวาเตะ ในเดือนหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน