“น้องเก้า” ด.ช.ธนบดินทร์ หนูเมฆ ทายาทตัวน้อยผู้สืบสานวัฒนธรรม มวยไทย อยากตามรอย บัวขาว ก้าวเป็นยอดมวยเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้ของไทยในอนาคต ด้วยแรงหนุนส่งของคุณพ่อคุณแม่ เมินกีฬาอย่างเทควันโด เสริมส่ง วิชามวยไทย เทียบชั้น ขนาดฝรั่งต่างชาติยังชื่นชม


ในยุคที่กีฬาต่างชาติเป็นที่นิยมฮอตฮิต ขณะที่กีฬาไทยๆซึ่งถือกำเนิดมาตั้งแต่บรรพบุรุษเองอย่าง”มวยไทย”กลับถูกมองข้าม เรื่องนี้ “น้องเก้า” ด.ช.ธนบดินทร์ หนูเมฆ หนูน้อยวัยเพียง 6 ขวบครึ่ง ชั้นอนุบาล 3 จากโรงเรียน แม่พระฟาติมา ย่านดินแดง กทม. กลับเป็นเด็กน้อยที่กำลังไล่ล่าความฝัน ด้วยแรงบันดาลใจจากยอดมวยไทยแห่งยุค “บัวขาว บัญชาเมฆ” ชื่นชอบหลงไหล ศึกษาวิชามวยไทย และศิลปะการแสดง ตระเวณเดินสายล่าถ้วยรางวัลจากการประกวด ไหวครู รำมวย ซึ่งเป็นการแผยแพร่ศิลปะมวยไทยล้วนๆ ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ !!

สืบถึงที่มาได้ความคร่าวๆจาก “คุณบอย” คุณพ่อธีรศักดิ์ หนูเมฆ และ คุณแม่ บุษรากรณ์ เดชมา ผู้ให้กำเนิดหนูน้อย ธนบดินทร์ หรือ “น้องเก้า” พระเอกของเรื่องได้ความว่า “จุดเริ่มต้นก็เห็นจะเป็นช่วงที่น้องเก้าอายุราวๆ 4 ขวบ วันหนึ่งนั่งดูหนังเรื่อง “ทองดีฟันขาว” เรื่องราวในตำนานของพระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งแสดงนำโดย บัวขาว บัณชาเมฆ ในบทต้นกำเนิดที่มาของนายทองดีนั่นเอง เนื้อเรื่องโชว์ความสามารถของวิชาการต่อสู้ในเชิงศิลปะมวยไทยแบบล้วนๆ เป็นที่ตรึงตราประทับใจแก่หนูน้อย ธนบดินทร์ มาแต่นั้น

ซึ่งตัวคุณแม่เองในเวลาต่อมา ก็พาลูกชายไปเข้าโรงเรียน”แอคติ้ง”เรียนรู้ในเรื่องการสอน การแสดง รวมทั้งพาไปทำกิจกรรมต่างๆมากมาย รวมทั้งแนวบู๊ ดูเหมือนลูกชายจะยิ่งชอบและถูกชะตาไม่น้อย

“โรงเรียนการแสดงทั่วไปส่วนใหญ่ก็จะสอนตั้งแต่ หัดเดินแบบ การร้องเพลง เต้นรำ และคิวบู๊ เรื่องการต่อสู้ ในเรื่องของคิวบู๊เมื่อน้องเก้าไปเล่นกับพวกพี่ๆที่ตัวโตกว่าก็เลยตามไม่ทัน เพราะน้องเค้าอายุแค่ 4 ขวบเท่านั้น และยังขาดทักษะ แม่ก็เลยพาไปเรียนคิวบู๊เพิ่มเติมตามคำแนะนำของคุณครูสอนอนุบาล จนได้มารู้จักกับ ครู”พยัคฆ์ทรงชัย ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง” อดีตนักมวยไทย ซึ่งครูเรียนจบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏจอมบึง และเป็นครูสอนอยู่ที่ โรงเรียนวัดราชาธิวาส มีประสบการณ์เคยพาเด็กๆไปโชว์และต่อยมวยไทยในต่างประเทศมากมาย”

“พอน้องเก้าได้มาเป็นลูกศิษย์ ได้รับการถ่ายทอด สอนมวยไทยโบราณ การไหว้ครู ต่างๆ ซึ่งครูจะสอนควบคู่ไปกับแนวหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา เริ่มฝึกทักษะกล้ามเนื้อ หัดเตะต่อย รำมวย อย่างถูกวิธี หนักเข้าก็มีการพาไปประกวด คีตะมวยไทย (รำมวยออกกำลังกาย) มีการเรียนติวเข้ม ใช้แม่ไม้มวยไทย ตระเวณเดินสายประกวดไปเรื่อยๆ น้องเก้าก็ยิ่งติดใจและชอบมวยไทยไปโดยปริยาย แม้จะเคยลองเล่นกีฬาชนิดอื่นๆ แต่ก็ไม่ปลื้มเท่ากับมวยไทย ซึ่งน้องเก้าเองก็บอกว่า โตขึ้นเขาอยากเป็นอย่างพี่บัวขาว !!” คุณแม่ บุษรากรณ์ ขยายความถึงลูกชาย

รวมทั้งให้ความเห็นต่อว่า “แม่มองกีฬามวย กับ กีฬาอื่นๆทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเทควันโด หรือฟุตบอล ก็ไม่ต่างกับมวยหรอก ทุกๆอย่างก็มีการปะทะรุนแรงเกิดอุบัติเหตุได้เหมือนกันหมดนั่นแหละ เพียงแต่ถ้าเรามีพื้นฐาน มีทักษะ ตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา รู้จักใช้สมอง มันก็น่าจะไปด้วยกันได้ การเรียนมวยไทยไม่ได้น่ากลัวอย่าที่คิด และที่สำคัญ แม่เห็นฝรั่งต่างชาติสนใจเดินทางมาเรียนมวยไทยในบ้านเรามากมาย แต่คนไทยแท้ๆทำไม พ่อแม่กลับไม่สนใจและให้ลูกๆไปเรียนเทควันโดกันหมด ทั้งๆที่เรียนมวยไทยก็ยังมี เดินสายประกวด ไหว้ครู รำมวย ได้รางวัล เป็นศิลปะเหมือนกัน”

สำหรับน้องเก้า หลังเรียนมวยไทยตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จนปัจจุบัน 6 ขวบครึ่ง ได้รับรางวัล สยามกินรี สาขาบุคคลผู้ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม จากกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2563) ก่อนหน้านี้ ก็เคย ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ชาลเล้นเจอร์ คิด (ประกวดศิลปะวัฒนธรรมไทย ทุกประเภทรวมกัน) ,รางวัล รองชนะเลิศ เบสชาลเล้นจ์ บอยแอนด์เกิลด์ ไทยแลนด์ โดยใช้ศิลปะมวยไทยเข้าประกวด และรางวัลอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดียังความปลาบปลื้มให้กับครอบครัว ทั้งที่น้องเก้านั้นอายุยังน้อย

ทางด้านคุณพ่อ ธีรศักดิ์ นั่นเล่า ให้ความเห็น “ในความคิดของผมๆมองว่า ผมอยากให้ลูกได้อนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมไทย และแม่ไม้มวยไทยอย่างนี้ต่อไป เพราะเราสืบทอดสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในส่วนการไปเรียนการแสดง แอคติ้ง ต่างๆ มันเป็นกิจกรรมเสริม อยากให้น้องเก้าได้เรียนรู้ ทักษะ ซึ่งจะมีส่วนดีต่อสุขภาพของเขาเองด้วย การเผยแพร่ศิลปะมวยไทย ซึ่งทุกวันนี้ต่างชาติเขาสนใจมวยไทยกันมาก อย่างมวยไทยไฟต์ นี่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้น้องเก้าอย่างมาก เขาชื่นชอบพี่ บัวขาว จากการต่อสู้ ยิ่งได้ดูในหนังภาพยนตร์นี่เขาชอบมาก จากเด็กที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ทุกวันนี้เขาเติบโตขึ้น มีสุขภาพ และบุคคลิกที่ดีขึ้นมาก ยิ่งเขาได้เรียนรู้ตามหลักวิทย์การกีฬา โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งเลยทีเดียว”

“คุณบอย” ธีรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย “ในฐานะผู้เป็นพ่ออยากฝากไปถึงผู้ปกครองบุตรทั้งหลายทั่วไป ผมมองว่า นอกเหนือจากเรื่องวิชาการแล้ว สิ่งที่ควรปลูกฝังควบคู่ไปกับการเรียน คือผมอยากให้นำกีฬามาประยุกต์ใช้กับลูกๆของเรา เพราะมันจะเสริมทักษะทั้งในส่วนของบุคคลิกภาพ การตัดสินใจ หลายๆอย่าง ควบคู่ไปพร้อมๆกัน การเข้าสังคมกับเพื่อน การแก้ปัญหา การตัดสินใจในหลายๆอย่าง ที่สำคัญ สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าลูกสุขภาพดี อะไรดีๆหลายๆอย่างก็จะตามมา สอนลูกให้หันมารักมวยไทย ไม่ใช่เรื่องรุนแรง น่าอับอาย หรือขี้เหร่อีกต่อไป….”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน