สร้างเสียงฮือฮากับการเปิดตัวนักกรีฑาทีมชาติไทย ชุดสู้ศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่าง 19-30 ส.ค.นี้ โดยนักวิ่งมาราธอน 42.195 ก.ม.นั้น นอกจากบุญถึง ศรีสังข์ ยังมีชื่อของ“นพ.เสถียร ตรีทิพย์วาณิชย์” ร่วมอยู่ด้วย

หมอคนนี้เป็นใครมาจากไหน จู่ๆจึงมีชื่อติดโผอีเวนต์ที่หินที่สุดของนักกรีฑาทีมชาติไทย เมื่อลงรายละเอียดปรากฏว่า นพ.เสถียร หรือ “หมอเถียร” ของเพื่อนๆ เป็นนักวิ่งที่ถูกจับตามองจากสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยมาตลอด แม้ว่าจะเป็นคุณหมอ โดยทำงานเป็นแพทย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ใช้เวลาฝึกซ้อมอย่างจริงจังจนก้าวขึ้นมาเป็นนักวิ่งแถวหน้าในระยะ 10 ก.ม. และฮาล์ฟมาราธอน

 

กระทั่งสร้างชื่อกระหึ่มในวงการวิ่ง เมื่อไปคว้าแชมป์วิ่ง คาชิวะ โนะ ฮะ โซไก มาราธอน ที่เมืองคาชิวะ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยเวลา 2.39.51 ชม. ทั้งที่ลงวิ่งฟูลมาราธอนหนแรกในชีวิต สถิติดังกล่าวอยู่ในข่ายคว้าเหรียญซีเกมส์ได้เลย โดยนักวิ่งมาราธอนเหรียญทองแดงซีเกมส์หนล่าสุด ทำเวลา 2.37.10 ชม. และสถิตินี้ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยฯ โดยการนำเสนอของปีเตอร์ ตีตี้ เฮดโค้ชสาขามาราธอน ก่อนที่“แฝดเล็ก”พล.ต.ต.ศุภวณัฐ อาริยะมงคล หัวหน้าผู้ฝึกสอน จะเรียกตัวหมอเสถียรเข้าแคมป์ทีมชาติเพื่อร่วมเก็บตัวฝึกซ้อม

คุณหมอนักวิ่งจากชมรมบางขุนเทียน และชมรมหมอบ้าพลัง เล่าว่า “ผมเริ่มวิ่งตั้งแต่ปี 2547 ตอนอายุได้ 21 ปีครับ เดิมผมชอบเล่นฟุตบอลมาก แต่ตอนนั้นป่วยเป็นโรค Ankylosing Spondylitis ซึ่งเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง อธิบายง่ายๆจะคล้ายๆโรคข้ออักเสบเรื้อรัง คือจะปวดกระดูก ปวดหลังมาก ภูมิจะกลับมาโจมตีร่างกาย วิธีรักษาหลักคือการออกกำลังกาย แพทย์เจ้าของไข้แนะนำให้เลิกเล่นกีฬาที่มีแรงปะทะ จึงต้องเริ่มวิ่ง แล้วอาการก็ดีขึ้นตามลำดับ จากนั้นก็วิ่งเรื่อยๆมาเป็นเวลา 10 กว่าปี กระทั่งลงวิ่งฟูลมาราธอนหนแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ทำสถิติค่อนข้างน่าพอใจ ซึ่งจริงๆแค่อยากจะซ้อมเพื่อไปแข่งกีฬาแห่งชาติสักครั้งเท่านั้น มาทราบทีหลังว่าสต๊าฟโค้ชทีมชาติเห็นและนำชื่อของผมเข้าที่ประชุมเพื่อคัดเลือกตัวนักกีฬา และถูกเรียกตัวมาฝึกซ้อมกับทีมชาติด้วย


พัฒนาการของ“หมอเถียร ดีขึ้นตามลำดับ จนพี่ๆในทีมชาติแนะนำให้ไปเทสต์เวลาเพื่อลุ้นโควตามาราธอน และในที่สุดเมื่อประกาศชื่อซีเกมส์ออกมาปรากฏว่า สมาคมกรีฑาวางตัว “หมอเถียร” เป็นนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย

“แค่นี้ก็ถือว่าเป็นความฝันแล้วครับ ได้ร่วมแคมป์ทีมชาติ ได้ซ้อมกับนักกีฬาทีมชาติ เพราะคำว่าทีมชาติส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะติดกันตอนอายุน้อยๆ แต่ผมอายุ 34 ปีแล้วไม่เคยคาดหวังว่าจะมีวันนี้เลยด้วยซ้ำ”

บุญถึง ศรีสังข์ นักวิ่งมาราธอนหมายเลข 1 ของประเทศ พูดถึงรุ่นน้องหน้าใหม่ว่า พัฒนาการของหมอเถียรค่อนข้างดีมาก เป็นนักวิ่งหน้าใหม่ที่ซ้อมยาวๆนานๆได้ดี แต่เนื่องจากเป็นนักวิ่งที่ฝึกซ้อมมาเองโดยตลอด ทำให้ยังมีปัญหาเรื่องการซ้อมในลู่ หรือการลงคอร์สหนักๆอยู่บ้าง แต่รวมๆถือว่าทำได้ดีทีเดียว

ช่วงแรกของฝึกซ้อมอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ฐานบัญชาการใหญ่ของทัพกรีฑาไทย “หมอเถียร”ยังขับรถไปกลับได้ตามปกติ แม้จะใช้เวลาเดินทางจากนครปฐมไปม.ธรรมศาสตร์ รังสิต แต่ก็ยังพอเป็นไปได้ แต่เมื่อกลายเป็นนักกีฬาทีมชาติแล้วต้องฝึกซ้อมตามโปรแกรมที่โค้ชวางไว้ ทีมมาราธอนต้องไปเก็บตัวที่จ.เชียงใหม่เป็นระยะเวลานาน ทำให้ “หมอเถียร” ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ

“ตอนฝึกซ้อมที่มธ.รังสิต ยังไม่มีปัญหาครับ ยังขับรถไป-กลับไหว เพราะด้วยตัววิชาชีพของผมแม้จะไม่ต้องเฝ้าอยู่ที่โรงพยาบาล แต่หากมีเคสขึ้นมาระยะเวลา 1 ชม.จะต้องไปถึงโรงพยาบาลสำหรับเคสฉุกเฉิน บางทีก็วิ่งไปดูมือถือไปว่ามีเคสด่วนหรือไม่ เมื่อเข้าไปคุยกับผู้ใหญ่ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้ใช้วันลาที่สะสมไว้ไปก่อน เพราะก่อนหน้านี้ผมไม่เคยหยุดงานเลย เมื่อผ่านไป 2 เดือน วันลาหมดลง ประกอบกับพัฒนาการวิ่งของผมดีขึ้นตามลำดับ ใจจริงผมอยากจะทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆกัน แต่พอจะต้องไปซ้อมที่เชียงใหม่แล้ว ไปกลับไม่ไหวแน่ๆ คิดยังไงก็มีวิธีเดียวคือคงต้องลาออกจากงานเอาไว้ก่อน เพราะผมเองก็อยากจริงจังกับโอกาสนี้สักครั้งในชีวิต”


“การฝึกซ้อมในวันที่เราเป็นทีมชาติมันแตกต่างจากสิ่งที่จินตนาการเอาไว้มาก เพราะมันหนักมากๆ บางช่วงที่โค้ชลงคอร์สหนักๆ ก็แอบคิดว่านั่งตรวจคนไข้ดีๆไม่ชอบ แต่เมื่อเลือกแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด วันนี้รู้สึกขอบคุณพ่อ-แม่ และครอบครัวที่ให้การสนับสนุนตัวผมมาตลอด ซีเกมส์ครั้งนี้แม้ผมจะไม่ใช่ตัวเต็ง เพราะสถิติของนักวิ่งต่างชาติค่อนข้างน่ากลัว แต่เหรียญมีอยู่ 3 เหรียญ ถ้าไปแบบไม่หวังเลยก็คงเป็นไปไม่ได้”

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน