ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.กระทรวงสาธารณสุข ประธานพิธีเปิดศึกสองล้อลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย สนามที่ 1 โดยมีคณะจากกระทรวงสาธารณสุขชุดใหญ่ มาร่วมตรวจความพร้อม

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิด การแข่งขันจักรยานประเภทลู่ ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน “ควีนส์สิริกิติ์” ประจำปี 2564 สนามที่ 1 ในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ไม่มีคนดู ระหว่างวันที่ 12-14 ก.พ. ที่สนามเวลโลโดรม หัวหมาก

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ในการนี้ได้นำคณะทำงานชุดใหญ่ ประกอบด้วย อธิบดีกรมอนามัย, อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข จะมาร่วมตรวจความพร้อม โดยเฉพาะมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า “สมาคมกีฬาจักรยานฯ มีมาตรการจัดการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ ชิงแชมป์ประเทศไทย สนามที่ 1 แบบชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งจะไม่มีคนดู โดยจะให้ชมการแข่งขันจากการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ Thaicycling Association และจะมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขัน แต่ละทีมจะมีเจ้าหน้าที่ได้ 1 คนต่อนักกีฬา 3 คน หากมีนักกีฬา 10 คน จะมีเจ้าหน้าที่ได้เพียง 3 คน”

“ส่วนการสมัครจะเปิดรับสมัครทางเว็บไซต์ของสมาคมฯ เท่านั้น ไม่รับสมัครหน้างาน นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ที่เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ PCR test ภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทางมาแข่งขัน และแนบเอกสารการตรวจที่มีผลเป็นลบ มากับใบสมัครด้วย”

“เสธ.หมึก” กล่าวอีกว่าเมื่อนักกีฬามาถึงสนามแข่งขันแล้วจะต้องตรวจสอบรายชื่อและคุณสมบัติเสียก่อน จากนั้นเข้าไปที่จุดคัดกรองเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ รับไอดีการ์ด พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่รถจักรยานและอุปกรณ์ทุกชิ้น เมื่อเข้าไปในสนามเวลโลโดรมแล้ว นักกีฬาจะเข้าประจำพื้นที่ของทีมตัวเองที่สมาคมฯ จัดสรรเอาไว้ให้ โดยนักกีฬาจะต้องนั่งเก้าอี้ 1 ตัว เว้น 1 ตัว เพื่อรักษาระยะห่าง และไม่ลุกเดินจากที่นั่งโดยไม่จำเป็น

เมื่อถึงเวลาใกล้แข่งขันจะมีผู้ตัดสินประกาศเรียกตัวให้ลงไปฝึกซ้อมยังพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งมีฉากพลาสติกกั้นเป็นสัดส่วนไม่มีการปะปนกัน เมื่อแข่งขันเสร็จก็ให้กลับไปประจำที่นั่ง หรือถ้าไม่มีรายการอื่นที่จะลงแข่งขันต่อ ก็ให้เดินทางกลับบ้านหรือที่พักทันที

นายกสองล้อไทย กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือนักกีฬาที่ลงแข่งขันทุกคนจะต้องทำประกันอุบัติเหตุ หากนักกีฬาคนใดไม่สะดวกที่จะทำประกันมาล่วงหน้า สมาคมกีฬาจักรยานฯ อำนวยความสะดวกด้วยการประสานกับบริษัท รู้ใจ จำกัด หรือ “รู้ใจ.คอม” มาตั้งบูธที่บริเวณสนามแข่งขันเพื่อรับทำประกันให้ในราคาย่อมเยา คนละ 60 บาท

โดยจะกรมธรรม์จะคุ้มครองอุบัติเหตุตลอดการแข่งขันทั้ง 3 วัน ซึ่งการแข่งขันรายการอื่นๆ ที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ จัดขึ้นจะยึดมาตรการนี้เช่นเดียวกัน

สำหรับการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ ชิงแชมป์ประเทศไทย สนามที่ 1 จะแบ่งเป็นรุ่นยุวชนชาย-หญิง, เยาวชนชาย-หญิง, รุ่นอาวุโสอายุ 35-44 ปีชาย, รุ่นอาวุโสอายุ 45 ปีขึ้นไปชาย, รุ่นประชาชนชาย-หญิง

มีโปรแกรมดังนี้ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลา 07.00 น. ประชุมผู้จัดการทีม ที่ห้องเสรี ไตรรัตน์ จากนั้น เวลา 08.00-10.00 น. แข่งขันประเภทเปอร์ซูต รอบคัดเลือกทุกรุ่น ซึ่งจะมีพิธีเปิดการแข่งขันเวลา 10.00 น., เวลา 13.00-17.00 น. แข่งขันประเภทสแครตช์, คีริน, ทีมสปรินต์, ทีมเปอร์ซูต รอบคัดเลือกทุกรุ่น

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 08.00 – 12.00 น. แข่งขันประเภทไทม์ไทรอัล รอบชิงชนะเลิศทุกรุ่น, สแครตช์ 20 รอบ ประชาชนหญิง และสแครตช์ 4 ก.ม.ยุวชนหญิง รอบชิงชนะเลิศ, เวลา 13.00 – 15.00 น. แข่งขันประเภทสแครตช์ 5 ก.ม.ยุวชนชาย, สแครตช์ 15 รอบ เยาวชนหญิง, สแครตช์ 20 รอบ ประชาชนชาย รอบชิงชนะเลิศ

เวลา 15.00 – 16.00 น. แข่งขันประเภทสปรินต์ 200 เมตรไทม์ไทรอัล รอบคัดเลือกทุกรุ่น, เวลา 16.00-17.00 น. แข่งขันประเภทสปรินต์ รอบก่อนรองชนะเลิศ รุ่นยุวชนชาย, เยาวชนชาย, ประชาชนชาย และรอบรองชนะเลิศ รุ่นยุวชนหญิง, เยาวชนหญิง, ประชาชนหญิง

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เวลา 08.00-09.00 น. แข่งขันประเภทคีริน รอบชิงชนะเลิศ รุ่นเยาวชนชาย-หญิง, ประชาชนชาย-หญิง, เวลา 09.00-11.00 น. แข่งขันประเภทเปอร์ซูต รอบชิงชนะเลิศทุกรุ่น, เวลา 11.00-12.00 แข่งขันประเภทสปรินต์ รอบชิงชนะเลิศทุกรุ่น

เวลา 13.00-14.00 น. แข่งขันประเภททีมสปรินต์ รอบชิงชนะเลิศทุกรุ่น, เวลา 14.00-15.00 น. แข่งขันประเภททีมเปอร์ซูต รอบชิงชนะเลิศ รุ่นเยาวชนชาย, เยาวชนชาย, ประชาชนชาย

ทั้งนี้ นักกีฬาที่ต้องการสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน สามารถสมัครได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมจักรยานฯ www.thaicycling.or.th หรือสอบถามได้ที่ โทร.0-2719-3340-2 ในวันและเวลาราชการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน