“กอล์ฟประเพณี 5 เกียร์ “ ครั้งที่ 24 วิศวกรรมศาสตร์ 5 สถาบัน พร้อมดวลวงสวิง 4 มีนาคม สนามบางกอก กอล์ฟ คลับ

สมาคมนักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าภาพจัดแถลงข่าว “กอล์ฟประเพณี 5 เกียร์” เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อาคารสมาคมนักศึกษาเก่า วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซอยลาดปลาเค้า 14 กรุงเทพฯ เป็นการแข่งขันกอล์ฟระหว่างเหล่าวิศวกรทุกสาขา ทุกภาควิชา จาก 5 สถาบันวิศวกรรมศาสตร์หลักของประเทศ ซึ่งเป็นการแข่งขันกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่และจัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้เป็นการแข่งขันครั้งที่ 24 โดยมี นายสมบูลย์ วัฒนาสุวรรณ นายกสมาคมนักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมัยที่ 4 และรองประธานมูลนิธินักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าภาพในปีนี้เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วยตัวแทนทีมแข่งขันทั้ง 5 สถาบัน ประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โดยในปีนี้การแข่งขัน “กอล์ฟประเพณี 5 เกียร์” ครั้งที่ 24 ประจำปี 2566 กำหนดการแข่งขันในวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2566 ณ สนามบางกอก กอล์ฟ คลับ จ.ปทุมธานี ซึ่งในวันแข่งขันจะมีการ Live stream ผ่านแฟนเพจ Facebook “ 5 Gears Golf ” ตลอดการแข่งขัน คนไทยทั้งประเทศได้เชียร์โดยพร้อมเพรียงกัน สามารถรับชมและได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่และเพลิดเพลินไปกับทุกโมเมนต์ในการแข่งขัน พร้อมร่วมสนุกกับกิจกรรมออนไลน์ที่ทางเพจได้จัดขึ้น ด้วยภาพเสียงคมชัด เสมือนหนึ่งได้ชมการแข่งขันแบบติดขอบสนาม

นายสมบูลย์ วัฒนาสุวรรณ นายกสมาคมนักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมัยที่ 4 และรองประธานมูลนิธินักศึกษาเก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การแข่งขันกอล์ฟประเพณี 5 เกียร์ วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีในหมู่ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั้ง 5 สถาบัน รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต เพราะเป็นการแข่งขันกอล์ฟที่รวมบรรดาศิษย์เก่าวิศวกรของสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ และเป็นการสื่อถึงความสามัคคีพร้อมเพรียง การแสดงเจตนารมณ์ของบรรดาศิษย์เก่าวิศวะ 5 สถาบันหลักของประเทศ ด้วยการร่วมมือร่วมใจพัฒนาประเทศไทย โดยอาศัยกีฬากอล์ฟเป็นสื่อกลาง ซึ่งการร่วมแข่งขันเป็นประโยชน์ทั้งด้านการสร้างความสามัคคี กระตุ้นเตือนให้เกิดคุณธรรมในด้านของการรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เพิ่มศักยภาพเป็นพลังขับเคลื่อนส่งเสริมให้วิศวกรเป็น ผู้ที่มีคุณภาพทั้งด้านวิชาการ วิชางาน และวิชาคน เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและประเทศชาติต่อไป อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและ เกิดความสนุกสนานได้รับความสุข จากการแข่งขัน “กอล์ฟประเพณี 5 เกียร์” ร่วมกัน

นายเวชวัฒน์ นิธีกุลวัฒน์ นายกสมาคมนักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมัยที่ 18 ตัวแทนจากศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปีนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันกอล์ฟประเพณี 5 เกียร์ ในปีนี้เป็นการแข่งขันครั้งที่ 24 ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในปีนี้นั้น สนามในการแข่งขันเราได้เลือกสนามแข่งขันที่ได้มาตรฐาน คือ สนามบางกอก กอล์ฟ คลับ จ.ปทุมธานี ซี่งก็เป็นสนามที่ได้รับความนิยมจากบรรดานักกอล์ฟเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ การจัดเตรียมความพร้อมต่างๆ ส่วนของสนามแข่งขัน ความสมบูรณ์ของสนาม อุปกรณ์ ส่วนของสถานที่อาคารคลับเฮ้าส์ ห้องอาหารสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้มีการจัดเตรียมไว้เป็นเป็นอย่างดี พร้อมให้การต้อนรับนักกอล์ฟ รวมถึงบรรดากองเชียร์ที่มาร่วมเชียร์ชมการแข่งขัน เพื่อให้การแข่งขันครั้งนี้สมบูรณ์เป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ท้าทายและมีความสนุกสนานให้เป็นที่ประทับใจกับทุกท่านที่มาร่วมงาน ซึ่งในวันแข่งขันจะมีการ Live stream ผ่านแฟนเพจ Facebook “ 5 Gears Golf ” ตลอดการแข่งขัน ทุกท่านสามารถรับชมและร่วมลุ้นผลสนุกสนานกับบรรยากาศการแข่งขันได้พร้อมกันทั่วประเทศ

การแข่งขันเรามีการแข่งขันกันอย่างจริงจังแต่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและมิตรภาพ เกมส์ในการแข่งขันไม่เพียงแต่ใช้ความสามารถในการเล่นกอล์ฟ แต่ต้องมีเทคนิคไหวพริบในการแก้ปัญหาในเกมส์ระหว่างการแข่งขันตลอดเวลา โดยมีกติกาการแข่งขันกำหนดการแข่งขันแบบ Match Play จำนวน 18 หลุม โดยแต่ละกลุ่มจะแข่งขันเดิมพันกันเองในแต่ละหลุม หลุมละ 1 point สะสมคะแนนจนครบ 18 หลุม แล้วรวมจำนวน point ของนักกีฬาแต่ละสถาบันเพื่อจัดอันดับในกลุ่ม จำนวนคะแนนประเภททีมของแต่ละกลุ่มมารวมกัน โดยสถาบันใดมีคะแนนรวมสูงที่สุดจะเป็นผู้ชนะ และยังมีรางวัลในแต่ละ Flight แบ่งเป็น 4 ไฟล์ท A / B / C / D โดยนำคะแนนรวมประเภททีมของนักกีฬาแต่ละ Flight ในสถาบัน มาจัดลำดับหาผู้ชนะเพื่อครองถ้วย Flight ทั้งนี้คะแนนรวมประเภททีมของนักกีฬาทุก Flight ของแต่ละสถาบัน จะนำมาจัดลำดับหาผู้ชนะเลิศได้ครองถ้วยกอล์ฟประเพณี โดยทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้มีการเตรียมตัวฝึกฝนตัวแทนนักกีฬาที่จะเข้าร่วมแข่งขันอย่างเต็มที่ เพื่อจุดมุ่งหมายที่อยากจะคว้าแชมป์ เพราะเป็นปีที่เราเป็นเจ้าภาพเราจึงต้องพร้อมเต็มที่ทุกด้านทั้งด้านการจัดงานและด้านการร่วมการแข่งขัน

นายนภดล อนุสิทธิ์ ประธานชมรมกอล์ฟวิศวดงตาล ตัวแทนศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการแข่งขันกอล์ฟประเพณี 5 เกียร์ ในทุกปีทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้มีการคัดเลือกฝึกฝนนักกอล์ฟที่จะเข้าร่วมแข่งขันอย่างเข้มข้นเต็มพลังเพื่อที่จะได้นักกอล์ฟที่มีฝีมือเพิ่มเพื่อที่จะสร้างชื่อเสียงคว้าแชมป์มาให้กับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะการแข่งขันกอล์ฟประเพณี 5 เกียร์นี้เป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ เป็นแมทช์เกียรติยศของเราชาววิศวกรรมศาสตร์ ในปีนี้ก็มีความมุ่งมั่นเพื่อที่จะพยายามคว้าแชมป์ให้ได้ แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่สำคัญกว่าการคว้าแชมป์นั่นคือ การที่พวกเราชาววิศวกรรมได้มีโอกาสมาพบปะรวมตัวกันโดยใช้กีฬากอล์ฟเป็นสื่อกลางในการรวมตัวกันของทั้ง 5 สถาบัน คือ การคว้าใจของทุกคนมาหลอมรวมกันเป็นพลังของความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร สถาบันไหนจะได้คว้าแชมป์ แต่พวกเราชาววิศวกรรมทุกสถาบันยังคงมีความปรองดองรักใคร่สามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเสมอมา

นายสุริยะ ตันติวิวัฒน์ นายกสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นตัวแทนศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางทีมมหาวิทยาลัยขอนแก่น รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในสถาบันเข้าร่วมการแข่งขันกอล์ฟประเพณี 5 เกียร์นี้ ในทุกๆปีเราก็ได้มีการคัดเลือกตัวนักกอล์ฟที่เข้าร่วมการแข่งขันอย่างสุดกำลัง และให้ความร่วมมือในการจัดการแข่งขันในทุกๆด้านเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้ครองแชมป์มา 9 สมัย แต่ที่ภูมิใจมากกว่านั้นคือ ในการแข่งขันเราได้มิตรภาพ และเป็นมิตรภาพที่ยั่งยืน เป็นงานแข่งขันที่สร้างความสัมพันธ์อันดีเยี่ยม ผู้เข้าแข่งขัน ผู้ร่วมงาน กองเชียร์ต่างๆของแต่ละสถาบัน ทุกคนคนให้ความเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันเสมือนเราเป็นครอบครัววิศวกรขนาดใหญ่ ที่พร้อมเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือในทุกๆด้านของวงการวิศวกร การได้รับความสนุกสนานจากการแข่งขัน ซึ่งเป็นพลังด้านบวกที่มาเป็นแรงผลักดันให้สร้างสรรค์พัฒนางานด้านวิศวกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชาววิศวกรรมในรุ่นต่อๆไปในอนาคต

นายศักดิ์ชัย เติมขจรกิจ ประธานชมรมกอล์ฟ สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กอล์ฟประเพณี 5 เกียร์” ทางวิศวจุฬาฯในฐานะแชมป์เก่า 2 ครั้งล่าสุด คือครั้งที่ 22 และ 23 เป็นการครองแชมป์สองสมัยติดต่อกัน แต่รวมแล้วทางจุฬาฯคว้าแชมป์มาทั้งหมด 8 ครั้งด้วยกัน ซึ่งการแข่งขันในปีนี้จึงต้องทำให้ทางวิศวะจุฬาฯมีความพร้อมเป็นสองเท่ามากกว่าเดิมเพื่อที่จะรักษาแชมป์ 2 สมัยติดของเราไว้ให้ได้ ทางเราได้มีการคัดนักกีฬาและฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ เหมือนคำกล่าวหนึ่งที่ว่า “การจะเป็นแชมป์นั้นยาก แต่การรักษาแชมป์เอาไว้นั้นยากกว่า” อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรารักษาไว้ได้ยาวนานมากกว่าแชมป์นั่นคือ มิตรภาพภายใต้ความเป็นวิศวะ เป็นปัจจัยสำคัญให้พวกเราชาว 5 เกียร์ มีการแข่งขันกันต่อเนื่องยาวนานหลายปีจนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 24 แล้วนั้น ซึ่งทุกสถาบันมีความตั้งใจ ความสามัคคี ความเสียสละ ความร่วมมือร่วมใจ ทำให้การแข่งขันมีความยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว เป็นกอล์ฟรายการใหญ่ที่เป็นประเพณีในทุกๆปี เป็นที่สนใจจากบรรดาศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เล่นกีฬากอล์ฟและนักกอล์ฟทั่วไป ต่างรอคอยที่จะติดตามความเคลื่อนไหวอยากทราบผลการแข่งขัน หรือหาโอกาสมาร่วมกิจกรรมมากขึ้นในทุกๆ ซึ่งไม่ว่าผลในปีนี้จะออกมาเป็นอย่างไรเราจะรักษาแชมป์ไว้ได้หรือไม่นั้น แต่เรามีความภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้ร่วมลงสนามแข่งขัน

นายจำรัส เจียรนัย รองประธานฝ่ายกิจการภายในชมรมกอล์ฟ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU GOLF CLUB)ตัวแทนศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันกอล์ฟประเพณี 5 เกียร์ เป็นการแข่งขันที่มีความประทับใจเป็นพิเศษ คือ ในทุกปีแต่ละสถาบันก็ต่างเฝ้ารอให้ถึงวันแข่งขันกันอย่างใจจดใจจ่อ ซึ่งเราจะได้ร่วมประลองฝีมือ ร่วมสนุกสนาน ร่วมกิจกรรมที่ทางเจ้าภาพในแต่ละปีเตรียมไว้อย่างดีเพียงปีละครั้ง ในปีนี้ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้เตรียมไว้ให้อย่างดี ซึ่งในวันแข่งขันทุกปีพวกเราทุกสถาบันต่างลุ้นผลการแข่งขันกันอย่างตื่นเต้นสนุกสนาน บรรยากาศตอนประกาศผลนั้นเป็นภาพประทับใจทุกปี ส่วนปีนี้ทางวิศวสงขลาของเราก็จะทุ่มพลังในการแข่งขันอย่างสุดความสามารถ นักกีฬาของเราก็ได้ทำการฝึกฝนมาอย่างเต็มที่ การเตรียมตัวทั้งในส่วนของร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆภายในถุงกอล์ฟ เราให้ความสำคัญในการเตรียมพร้อมก่อนการแข่งขันทุกส่วน เพราะถือเป็นการทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ในฐานะผู้เข้าร่วมการแข่งขัน เราต้องทำอย่างเต็มที่สุดความสามารถ ส่วนผลการแข่งขันที่ออกมาจะได้แชมป์หรือไม่นั้น มันคือรางวัลของเกมกีฬากอล์ฟ แต่รางวัลที่ได้รับอย่างแน่นอนนั่นคือ ความสุขในการได้เข้าร่วมงานได้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันไม่ว่าสถาบันใดจะได้แชมป์ เราคือส่วนหนึ่งในความสำเร็จของแชมป์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน